รีเซต

"อนุทิน" เตรียมเจรจาขอใช้รพ.บุษราคัมต่อ ยันรับฟัง อ.แพทย์เสนอล็อกดาวน์ กทม.

"อนุทิน" เตรียมเจรจาขอใช้รพ.บุษราคัมต่อ ยันรับฟัง อ.แพทย์เสนอล็อกดาวน์ กทม.
ข่าวสด
24 มิถุนายน 2564 ( 13:28 )
88

 

"อนุทิน" รับฟัง อ.แพทย์เสนอล็อกดาวน์ กทม. แต่ต้องไปหารือศบค. ยันระบบสาธารณสุขไม่ล่ม เตรียมเจรจาเมืองทองธานี ขอยืดเวลาใช้ รพ.บุษราคัม

 

 

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีอาจารย์แพทย์เสนอให้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ กทม.และปริมณฑล เพื่อควบคุมโรคโควิด 19 และให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปได้ ว่า เรารับฟังทุกอย่างและไปประเมิน โดยมีคณะทำงาน คณะกรรมการ และยังมี ศบค. แต่ว่าความเห็นที่มีคุณค่าจากอาจารย์แพทย์ทั้งหลายเราต้องฟัง ไม่ฟังไม่ได้ ฟังเสร็จแล้วต้องไปคิดพิจารณาด้วยว่า มีความเหมาะสมสถานการณ์อย่างไร

 

 

 

 

และดำเนินการตามเหมาะสม ต้องดูทุกมิติ ซึ่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ได้พบกับผู้ว่าฯ กทม.ก็พูดคุยว่ามีอะไรเราสนับสนุนเกื้อกูลกัน กทม.ก็ดูแลพื้นที่ให้เต็มที่ ขาดเหลืออะไร สธ.ทั้งปลัด สธ. และอธิบดีกรมการแพทย์พร้อมเข้าไปสนับสนุนช่วยกันแก้ไขปัญหา

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนกรณี รพ.บุษราคัมที่จะใช้พื้นที่อิมแพคถึงสิ้น ส.ค.นี้ ก็เตรียมจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม ตนรายงานนายกฯ แล้ว เพื่อดูภาคส่วนราชการต่างๆ ว่ามีพื้นที่ที่สะดวกทำเป็น รพ.สนามแบบนี้หรือไม่ ซึ่งอาศัยพื้นที่ใหญ่อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีระบบที่ดีด้วย อย่างอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี แอร์ในห้องแสดงสินค้าที่เป็นหอผู้ป่วย แยกกับแอร์ข้างนอก จึงไม่ได้ใช้อากาศร่วมกันระหว่างคนป่วยและทีมแพทย์พยาบาล แต่อย่างสถานีกลางบางซื่อ พอไปดูแล้วพบว่าเป็นเซ็นทรัลแอร์ ไม่มีโซนแยก ก็ทำไม่ได้ ก็อาจต้องไปเจรจาประธานเมืองทองธานีขอใช้อีก 2-3 เดือนได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอย่างไร เพราะ รพ.บุษราคัมมีประโยชน์มาก ถ้าไม่มีกทม.จะยุ่งมาก

 

 

 

เมื่อถามต่อว่า รพ.หลายแห่งไม่รับการตรวจคัดกรองโควิด 19 เนื่องจากเตียงค่อนข้างเต็มไม่มีรักษาผู้ป่วย นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่คิดว่าคงมีเหตุผลของเขา แต่คุณภาพการรักษาพยาบาลไม่ตกลงอย่างแน่นอน ซึ่งการรักษาพยาบาลตอนนี้เราบริหารจัดการโดยใช้ระบบเขตสุขภาพมาช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้ามองเป็นกระจุกอาจเห็นมีความแน่นหนา ใกล้จุดไม่เพียงพอ ถ้ามองทั้งระบบเรายังบริหารจัดการได้

 

 

"อย่างวันนี้อาจเห็นผู้ที่หายป่วยน้อยกว่าผู้ป่วย เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วมีคลัสเตอร์เยอะผู้ป่วยเพิ่ม 3-4 พันคนต่อวัน แต่ผู้ป่วยหายประมาณ 2 พันคน ดังนั้น ถ้านับไปอีก 2 สัปดาห์จะเห็นผู้ป่วยที่หาย 3-4 พันคน ระหว่างนี้ สธ. กทม. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปกดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ คลัสเตอร์ต่างๆ ก็ต้องขอความร่วมมือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทำมาตรการ Bubble and Seal ห้ามคนเข้าคนออกไม่ให้เดินทางไปไหนมาไหน แยกคนไม่มีเชื้อออกมา แยกผู้ป่วยเขารักษาตามอาการ กำชับขอความร่วมมือฝ่ายปกครองช่วยกัน เพราะ สธ.ทำได้แต่ป้องกัน รักษา ควบคุมเรื่องโรค แต่ไม่ถนัดเรื่องควบคุมคน" นายอนุทิน กล่าว

 

 

 

เมื่อถามต่อว่า จะย้ายผู้ป่วยไปยัง รพ.สนามในจังหวัดที่มีการป่วยไม่มากหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมด ถึงบอกว่าใช้ระบบสาธารณุสุขในการควบคุมดูแล สธ.ไม่มีวันยอมให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย และไม่มีวันล่ม ใครก็ตามไม่ควรใช้คำนี้ แต่ควรช่วยกันคิดทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องระดมทั้งประเทศ ซึ่งทำมาแล้วอย่าง รพ.อย่างบุษราคัม คือ การระดมสรรพกำลังบุคลากรทั่วประเทศมาทำงานสลับกันเข้ามาทำคนละ 2 สัปดาห์ เท่ากับว่ามีแพทย์และพยาบาลมีประสบการณ์เรื่องการบริหารจัดการ รพ.สนามได้ ขอให้มั่นใจว่าเราไปไม่ถึงจุดนั้น

 

 

เมื่อถามว่า สถานการณ์ต่างจังหวัดมีหลายคลัสเตอร์จะมีปัญหาการหมุนเวียนบุคลากรเข้ามาดูแลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้า Bubble and Seal ได้ก็ไม่กังวลเท่าไร ซึ่งสถานการณ์ในต่างจังหวัดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สธ. เรามี รพ.หลักและรองหมุนเวียนกันไปได้ อย่างปีที่แล้ว จ.เชียงใหม่ เรากำหนด 2-3 รพ.ระดับอำเภอเป็น รพ.โควิดโดยเฉพาะ ก็ไม่กระทบ รพ.ใหญ่ มีโรคอื่นก็ส่งต่อกันเองระหว่าง รพ.

 

 

นี่คือสิ่งที่พยายามพูดว่าระบบสาธารณสุขทั้งหมด อย่าไปดูจุดเดียว ดูจุดเดียวก็ตกใจแน่นอน เพราะว่าน้ำหนักการระบาดอยู่ที่ กทม. ปริมณฑล และ 2-3 จังหวัด ยังกระจายไปได้ ที่เราแก้ไขทุกวันนี้คือแก้ไขไม่ให้ไปถึงจุดนั้น แก้ไขในพื้นที่ปัญหานั้นก่อน จะได้ไม่ต้องใช้สรรพกำลังอะไรมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง