รีเซต

TOP ยันการชุมนุมหน้าโรงกลั่น ไม่กระทบโครงการ CFP

TOP ยันการชุมนุมหน้าโรงกลั่น  ไม่กระทบโครงการ CFP
ทันหุ้น
25 ตุลาคม 2567 ( 10:03 )
16

#ทันหุ้น - ไทยออยล์ ขอชี้แจงว่า การที่สหพันธ์รวมตัวชุมนุมบริเวณหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของไทยออยล์ ในบริเวณดังกล่าว แต่มิได้ส่งผลให้โครงการ CFP ต้องเลื่อนเปิดดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนดดังที่สื่อบางรายได้มีการรายงานข่าวแต่อย่างใด

 

จากกรณีที่มีการรายงานข่าวปรากฏบนสื่อบางสื่อเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ว่า การรวมตัวชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ของ “สหพันธ์ผู้รับเหมาโรงกลั่น TOP, โครงการ CFP ศรีราชา” (“สหพันธ์”) บริเวณหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี “ส่งผลให้โครงการ CFP ต้องเลื่อนเปิดดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนด” และได้มีการรายงานข่าวบนสื่อออนไลน์ว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (“ไทยออยล์”) ได้จัดจ้างผู้รับเหมาหลัก คือ กิจการร่วมค้าระหว่าง Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (เรียกรวมกันว่า “UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem”) ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างมากในการดำเนินงานโครงการ CFP จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการจ่ายเงินค่าตอบแทนล่าช้าให้กับผู้รับเหมาช่วงนั้น

 

ไทยออยล์ขอชี้แจงว่า โครงการ CFP เป็นโครงการขยายโรงกลั่นน้ำมันที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Complex Refinery) เพิ่มขีดความสามารถในด้านการกลั่นน้ำมันและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องจัดจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทใดที่สามารถดำเนินการได้ ไทยออยล์ได้เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการCFP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยเริ่มการออกแบบกระบวนการผลิตและออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้น ในปี พ.ศ. 2558-2559 เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอในการออกหนังสือเชิญประกวดราคาผู้รับจ้างเหมาทำของ ออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) โครงการ CFPและในปี พ.ศ. 2559 

 

ไทยออยล์ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประกวดราคา ตามกระบวนการจัดจ้างที่โปร่งใส สอดคล้องตามหลักบรรษัทภิบาล โดยมีหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐาน เช่น การวิเคราะห์งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน ประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า บริษัท 1. Petrofac International (UAE) LLC, 2. Samsung Engineering Co., Ltd.,และ 3. Saipem S.P.A. ได้รับการคัดเลือกและได้ทำสัญญาจ้าง EPC ดังกล่าวกับไทยออยล์ ในปี พ.ศ. 2561 ในนามของ The Consortium ประกอบด้วย PSS Netherlands B.V., (Offshore Contractor) และ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem (Onshore Contractor) โดยบริษัทแม่ของ The Consortium (PSS Netherlands B.V., (Offshore Contractor) และ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem (Onshore Contractor)) คือ 1. Petrofac Limited 2. Samsung Engineering Co., Ltd. และ 3. Saipem S.P.A. (“บริษัทแม่”) ได้ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของ The Consortium ทั้งหมด

 

ไทยออยล์ได้ทราบข่าวมาจากผู้รับเหมาช่วงบางรายในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ว่า UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับบริษัทผู้รับเหมาช่วงบางรายตามกำหนด โดย UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem อ้างว่าขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน ทั้งๆ ที่ไทยออยล์ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipemอย่างครบถ้วนมาโดยตลอด และยังมีบริษัทแม่ที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ได้

 

ไทยออยล์ขอยืนยันว่า ไทยออยล์ ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC อย่างครบถ้วนถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง แต่ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ยังไม่จ่ายค่าตอบแทนค้างจ่ายให้กับบริษัทผู้รับเหมาช่วง อย่างไรก็ดี ไทยออยล์ตระหนักถึงความเดือดร้อนของสหพันธ์ จากการไม่ได้รับค่าตอบแทนค้างจ่าย จาก UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ซึ่งไทยออยล์ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายกับผู้รับเหมาช่วงตามสัญญาระหว่าง UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem กับผู้รับเหมาช่วงแต่ละรายมาโดยตลอด เช่น การยินยอมให้ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem เรียกเก็บเงินค่าตอบแทนจากไทยออยล์ตามความสำเร็จของงานที่เกิดขึ้นจริง แทนการจ่ายตามการส่งมอบงานเมื่อแล้วเสร็จในแต่ละส่วนตามแผนงานที่ระบุไว้ในสัญญา ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2563 ถึงต้นปี พ.ศ. 2567 

 

รวมถึงการจ่ายค่าจ้างให้เร็วที่สุดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องทางการเงิน ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2565 ถึงกลางปี พ.ศ. 2567 นอกจากนี้ ไทยออยล์ได้หารือและเรียกร้องให้ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ยินยอมให้ไทยออยล์หักค่าตอบแทนตามสัญญา EPC ตามมูลค่าที่ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem มีสิทธิ์จะได้รับจากไทยออยล์ตามงวดงาน เพื่อชำระให้กับผู้รับเหมาช่วงโดยตรง แต่ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ยังไม่ให้ความยินยอม อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือต่อผู้รับเหมาช่วง ไทยออยล์ยังคงต้องคำนึงถึงว่า ไทยออยล์ มิได้เป็นคู่สัญญากับผู้รับเหมาช่วงโดยตรง จึงไม่สามารถก้าวล่วงดำเนินการใดๆ ในสัญญาระหว่างผู้รับเหมาช่วงและ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ได้ รวมถึง UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ยังได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งไม่ให้ไทยออยล์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสัญญาระหว่าง UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem กับผู้รับเหมาช่วง

 

ไทยออยล์ขอยืนยันว่า ไทยออยล์มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นตามหลักบรรษัทภิบาล และมุ่งหวังให้การดำเนินโครงการ CFP แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด โดยให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และไทยออยล์จะดำเนินการผลักดันให้ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายกับผู้รับเหมาช่วงตามสัญญาระหว่าง UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem กับผู้รับเหมาช่วงแต่ละรายต่อไป

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง