รีเซต

สหรัฐขึ้นบัญชีประเทศ “บิดเบือนค่าเงิน” ไทย “รอด” หรือ “ร่วง”

สหรัฐขึ้นบัญชีประเทศ “บิดเบือนค่าเงิน”  ไทย “รอด” หรือ “ร่วง”
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2563 ( 10:02 )
486

ปกติในช่วงกลางเดือนเม.ย.และต.ค.ของทุกปี กระทรวงการคลังสหรัฐ จะเปิดเผยรายชื่อประเทศที่เข้าข่าย บิดเบือนค่าเงิน หรือ Currency manipulator   เพียงแต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐเปิดศึกการค้ากับ “จีน” การเผยแพร่รายงานดังกล่าว จึงมีความล่าช้าออกไปบ้าง

โดยรายงานฉบับล่าสุด ออกมาในช่วงกลางเดือนม.ค.2563 ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมที่ต้องออกในช่วงกลางเดือนต.ค.2562 ขณะที่ รายงานฉบับที่เตรียมจะออกนี้ กำหนดการเดิมต้องออกมาในช่วงกลางเดือนเม.ย.2563 แต่ล่าสุดทางการสหรัฐยังไม่เผยแพร่รายงานฉบับนี้ออกมา ซึ่งคาดการณ์กันว่า น่าจะใกล้ออกมาแล้วในเร็วๆ นี้แล้ว


การจัดทำรายงานประเทศที่ “บิดเบือนค่าเงิน” ของกระทรวงการคลังสหรัฐ มีขึ้นเพื่อ “ลด” การขาดดุลการค้าของสหรัฐลง เนื่องจากในแต่ละปีสหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ ปีละไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ โดย “เป้าหมายใหญ่” ของสหรัฐอยู่ที่ “จีน” เพราะในแต่ละปีสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์

กระทรวงการคลังสหรัฐ มองว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าจำนวนมากในแต่ละปี เกิดจากการที่ “ธนาคารกลาง” ประเทศต่างๆ เข้ามา “แทรกแซง” ค่าเงินของตัวเองให้ “อ่อนค่า” เมื่อเทียบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ 



ด้วยเหตุนี้สหรัฐจึงดำเนินการตรวจสอบประเทศต่างๆ ว่า มีความพยายามที่จะ “แทรกแซง” หรือ “บิดเบือนเงิน” ของตัวเองให้ “อ่อนลง” เพื่อหวังผลทางการค้าหรือไม่ โดยทางการสหรัฐได้กำหนด “เกณฑ์ชี้วัด” ไว้ 3 ข้อ 

ข้อแรก ดูว่าแต่ละประเทศมีการสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศด้านเดียว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ซื้อเงินดอลลาร์เก็บเข้าในบัญชีเงินสำรองระหว่างประเทศ จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2% ของจีดีพีในประเทศนั้นๆ หรือไม่

ข้อสอง ดูว่า ประเทศนั้นๆ มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกินกว่า 3% ของจีดีพีหรือไม่

ข้อสาม ดูว่า ประเทศนั้นๆ มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับล่าสุดของสหรัฐ ที่ออกมาเมื่อกลางเดือนม.ค.2563 “ไม่พบ” ว่ามีประเทศใดที่ถูกสหรัฐขึ้น “บัญชีดำ” เป็นประเทศปั่นค่าเงิน จะมีเพียงประเทศที่สหรัฐ “เฝ้าจับตาดู” เป็นพิเศษ 10 ประเทศ เนื่องจากเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ จากทั้งหมด 3 ข้อ ตามที่กล่าวมา 


 
โดยทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย จีน เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ และ เวียดนาม

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า แม้เป้าหมายใหญ่ของสหรัฐ คือ “จีน” แต่ก็มีหลายๆ ประเทศที่โดนลูกหลงจากเกณฑ์ดังกล่าวด้วย ซึ่ง “ไทย” เองก็มีความเสี่ยงที่จะติดอยู่ในบัญชีนี้เช่นกัน



โดยรายงานฉบับที่ กระทรวงการคลังสหรัฐ เตรียมเปิดเผยในเร็วๆ นี้ จะใช้ข้อมูลทั้งหมดในปี 2562 ซึ่งถ้านำข้อมูลของปีดังกล่าวมาเทียบกับเกณฑ์ของสหรัฐ พบว่า “ไทย” เข้าตามเกณฑ์ “ครบทุกข้อ”

ข้อแรก ประเทศที่สะสมเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2% ของจีดีพี 

ในข้อนี้ ช่วงปี 2562 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยรวมกับฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (Forward) เพิ่มขึ้นราว 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.38 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2561 มาอยู่ที่ 2.57 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2562 หรือคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นต่อจีดีพีราว 3.5%

ข้อสอง มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่า 3% ของจีดีพี

สำหรับข้อสองนี้ ในปี 2562 ไทยมียอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 3.79 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่  7%

ข้อสาม มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์

และข้อนี้ ในปี 2562 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์ เรียกว่าพอดีเกณฑ์ของสหรัฐพอดี

แน่นอนว่า หากยึดตามเกณฑ์ที่ กระทรวงการคลังของสหรัฐ กำหนดไว้ “ไทย” ย่อมหนีไม่พ้นถูกขึ้น “บัญชีดำ” เป็นประเทศที่ “ปั่นค่าเงิน” เพื่อหวังผลทางการค้า  อย่างไรก็ตามหลังจากมีรายงานข่าวดังกล่าวออกมา “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ได้ออกมายืนยันว่า ที่ผ่านมา ได้ทำความเข้าใจกับกระทรวงการคลังของสหรัฐต่อเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง


 
โดย นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า แบงก์ชาติไทยได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเงินโลก รวมทั้งพัฒนาการของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกับทางกระทรวงการคลังสหรัฐอย่างต่อเนื่อง 

โดย แบงก์ชาติไทย พยายามชี้ให้เห็นว่า การดูแลค่าเงินของไทย เป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างเฉียบพลันเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนามุ่งหวังว่าจะไป “บิดเบือน” เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า เพราะถ้าดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีทั้ง “แข็งค่า” และ “อ่อนค่า” สลับกันไป ดังนั้นค่าเงินบาทจึงไม่ได้อ่อนค่าเพียงฝั่งเดียว

...ยังไม่มีใครตอบได้ว่า คำอธิบายของทางการไทยต่อกระทรวงการคลังสหรัฐ จะได้ผลหรือไม่ คงต้องรอดูรายงานฉบับล่าสุดที่เตรียมจะออกมาว่า มีรายชื่อของ “ไทย” ติดอยู่ในประเทศที่ “บิดเบือนค่าเงิน” เพื่อหวังผลทางการค้าหรือไม่



อย่างไรก็ตามแม้ไทยมีความเสี่ยงตกอยู่ในรายชื่อประเทศที่ “สหรัฐ” กล่าวหาว่า “บินเบือนค่าเงิน” เพื่อหวังผลทางการค้า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก เพราะสหรัฐยังให้เวลา 1 ปี ที่จะแก้ไขให้หลุดพ้นจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว

สำหรับในกรณีที่ ผ่านพ้นไปหนึ่งปีแล้ว ไทยยังไม่สามารถแก้ไขให้หลุดพ้นจากปัญหานี้ได้ กระทรวงการคลังสหรัฐ จะดำเนินการลงโทษด้วยการ 

1. ขอให้สถาบันการเงินสหรัฐตัดสิทธิการให้สินเชื่อผ่อนปรนแก่บริษัทที่อยู่ในประเทศไทย 

2.ตัดสิทธิ์บริษัทของไทยในการเข้าประมูลงานต่างๆ ในสหรัฐ

3.ส่งเรื่องให้ IMF ตรวจสอบการดำเนินนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนว่าเหมาะสมหรือไม่

4.ผู้แทนการค้าสหรัฐ อาจพิจารณาการทำ FTA หรือ เรียกเก็บภาษีขาเข้า ในกรณีที่มีผู้ไปร้องเรียน

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทีมข่าวได้ สอบถามความเห็นเรื่องนี้ไปยัง “นักเศรษฐศาสตร์” ของไทยหลายๆ คน ส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลนัก เพราะแม้ว่ารอบนี้ “ไทย” อาจมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว แต่การประกาศรอบถัดไป เชื่อว่า “ไทย” จะพ้นข้อกล่าวหาอย่างแน่นอน



“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี บอกว่า ถ้าดูข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563 พบว่า ไทย แทบไม่ได้เข้าเกณฑ์ของสหรัฐเลย โดยเฉพาะในเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะกลับมา “ขาดดุล” ราว 3.2% ของจีดีพี เนื่องจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวของไทยหายไปจำนวนมากจากการปิดประเทศ

ในขณะที่ ดุลการค้ากับสหรัฐ หากนับย้อนหลังไป 12 เดือน โดยนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 พบว่า ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐเหลือเพียง 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น ดังนั้นเพียงแค่ 2 ข้อนี้ ก็ทำให้ไทยสามารถหลุดพ้นจากบัญชีดังกล่าวของสหรัฐได้

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องมาติดตามกันก่อนว่า การประกาศรายชื่อของสหรัฐในรอบนี้ จะมีชื่อ “ประเทศไทย” ติดอยู่ในบัญชีดังกล่าวหรือไม่  เชื่อว่าเร็วๆ นี้คงทราบกัน!

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน สหรัฐฯขึ้นบัญชีประเทศ “บิดเบือนค่าเงิน” ไทย “รอด” หรือ “ร่วง”

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง