รีเซต

ส่อง 4 ภารกิจเร่งด่วน "อาคม" รัฐมนตรีคลังป้ายแดง!

ส่อง 4 ภารกิจเร่งด่วน "อาคม" รัฐมนตรีคลังป้ายแดง!
TNN ช่อง16
14 ตุลาคม 2563 ( 11:28 )
135
ส่อง 4 ภารกิจเร่งด่วน "อาคม" รัฐมนตรีคลังป้ายแดง!

        หลังจากที่วันนี้( 14 ต.ค.63) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ถือฤกษ์ดี 9.40 เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอย่างเป็นทางการแล้ว  ก็ได้เรียกประชุมผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลังทันที เพื่อเป็นการศึกษางานและมอบนโยบายสำคัญต่างๆไปพร้อมๆกัน

        โดยก่อนหน้านี้ นายอาคม ได้เคยเปิดเผยว่า  เมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแล้ว ภารกิจของตนเองนั้น ก็คือการดูแลเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน หลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ติดลบ ซึ่งก็เป็นทั่วโลก ดังนั้นจึงมี 4 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำ ได้แก่

  1. ต้องเข้าไปดูแลธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ซึ่งปัญหาสภาพคล่องถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเศรษฐกิจภาคเอกชนมีสัดส่วนประมาณ 70% ของจีดีพี
  2.  การบริโภค เป็นเรื่องผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศ ต่อเนื่องมาจากการคุมเข้มในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด การบริโภคจึงชะลอตัว แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่การบริโภคยังต่ำอยู่ จึงมีมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ออกมา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศ โดยการบริโภคมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ 50% ของจีดีพี
  3. การท่องเที่ยว โดยจะเน้นเข้าไปดูแลสาขาที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบสาขาใหญ่คือเรื่องการท่องเที่ยว จะต้องดูแลตลอดซัพพลายเชน ขณะนี้ก็อยู่ในมาตรการ แต่ในบางส่วน เช่น มาตรการที่เข้าไปแก้ปัญหารายกลุ่มต่างๆ ยังไม่ค่อยออกมาดีเท่าไหร่ ก็ได้หารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในเรื่องของการเร่งรัดแก้ไขข้อติดขัดที่ผ่านมา ซึ่งคงจะต้องรีบดำเนินการ
  4. เร่งรัดการเบิกจ่าย จะเข้าไปดูแลการใช้จ่ายภาครัฐให้ต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ 20% ของจีดีพี ฉะนั้น จะเข้าไปเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และการล้างท่อต่างๆ ที่มีเงินค้างอยู่ เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่วนที่เกี่ยวเนื่องการเร่งรัดการเบิกจ่าย คือการดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐเพื่อให้มั่นใจ เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ทั้งภายในประเทศ และทั่วโลกที่ประสบปัญหาเดียวกันหมด ฉะนั้น จะต้องดูแลกระแสเงินสดให้มีเพียงพอ ซึ่งขณะนี้ก็มีเพียงพออยู่แล้ว ส่วนการเบิกจ่ายเม็ดเงินต่างๆ ที่เป็นส่วนของประชาชนที่เป็นมาตรการของรัฐก็ต้องเร่งรัด

       

        นายอาคม กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา  ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ.  ได้มีมาตรการดูแล คลอบคลุมทั้งหมด แต่บางกลุ่ม เช่น การท่องเที่ยว ที่เรียกว่าจะทยอยเปิดประเทศ แต่ยังต้องชะลอไปก่อน ฉะนั้นซัพพลายเชนของภาคท่องเที่ยวเริ่มมาตั้งแต่ระดับข้างล่าง ทั้งชาวบ้าน กิจการโรงแรม ภัตตาคาร ได้รับผลกระทบหมด รวมถึงสายการบินที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ศบศ. ก็ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแล ว่าจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงพิจารณาข้อเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่สายการบินขอเข้ามา ทางศบศ. ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ และธปท. เข้ามาแยกแยะประเภทหนี้ ว่าเป็นหนี้อันเป็นผลประกอบการ หรือมาจากผลกระทบของโควิด-19 แน่นอน 



        อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจจะมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวประมาณ 1-2 ปี ดังนั้น จะต้องทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะสามารถเดินต่อได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังก็ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

        ส่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ก้อน 4 แสนล้านบาท อาจจะได้รับเสียงตอบรับว่าออกมาล่าช้า ก็จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ไขอย่างไร ขณะที่พ.ร.ก. ซอฟต์โลนของ ธปท. 5 แสนล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังก็จะเข้าไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งประสานกับ ธปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ 



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง