รีเซต

วิธีดูแลตัวเองเมื่อถูก "แก๊สน้ำตา" ต้องใช้น้ำอะไรล้าง เพื่อไม่ให้เสี่ยงตาบอด!

วิธีดูแลตัวเองเมื่อถูก "แก๊สน้ำตา" ต้องใช้น้ำอะไรล้าง เพื่อไม่ให้เสี่ยงตาบอด!
Ingonn
23 สิงหาคม 2564 ( 16:05 )
144
วิธีดูแลตัวเองเมื่อถูก "แก๊สน้ำตา" ต้องใช้น้ำอะไรล้าง เพื่อไม่ให้เสี่ยงตาบอด!

เนื่องจากช่วงนี้มีเหตุม็อบสิงหา อยู่บ่อยครั้ง และได้มีการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ที่ชุมนุม ทาง TrueID จึงเตรียมวิธีแนะนำในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อผู้ชุมนุมหรือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับการชุมนุมและถูก “แก๊สน้ำตา” ใส่บริเวณดวงตา ผิวหนัง ต้องล้างด้วยน้ำอะไร และต้องดูแลตนเองอย่างไรหากถูกแก๊สน้ำตา

 

 


รู้จัก “แก๊สน้ำตา”


แก๊สน้ำตาจัดเป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มีลักษณะเป็นผง แต่ที่เรามักเรียกกันว่าแก๊ส ก็เพราะว่า เมื่อมันอยู่ภายใต้แรงดันที่เหมาะสม จะสามารถฟุ้งกระจายในอากาศได้เหมือนแก๊ส นอกจากนี้อาจถูกนำไปผสมให้กลายเป็นของเหลวได้อีกด้วย

 

 

 

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อถูก “แก๊สน้ำตา”


แก๊สน้ำตามีผลระคายเคืองต่ออวัยวะต่างๆ คือ ตา เยื่อบุจมูกและทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องปาก และผิวหนัง โดยทำให้เกิดอาการดังนี้

 


การหายใจ : ทำให้แสบจมูกและมีน้ำมูกไหล ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ จาม มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาจมีหลอดลมตีบจนหายใจไม่ออก โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพองอยู่ก่อน จึงต้องระวังให้มากในคนกลุ่มนี้ และอาจมีปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ได้ใน 12-24 ชั่วโมง หากได้รับในปริมาณที่มาก

 

 

ผิวหนัง : หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแสบ และบวมแดง หากสัมผัสนาน อาจเหมือนถูกไฟไหม้ นอกจากนี้อาจมีผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (contact dermatitis) ได้ ซึ่งทำให้เกิดผื่นคัน โดยเกิดหลังจากสัมผัสไปแล้ว 72 ชั่วโมง

 

 

กินหรือกลืน : ทำให้แสบปาก น้ำลายไหล และอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้

 

 

ตา : ทำให้มีน้ำตาไหล แสบตา หนังตาบวม เยื่อบุตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น ต้องกระพริบตาตลอด กล้ามเนื้อรอบเบ้าตากระตุก (blepharospasm) หนังตาบวม เยื่อบุตาอักเสบรวมทั้งอาจทำให้ตามองไม่เห็น ตาบอดชั่วคราว และอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ หากถูกกระแทกโดยตรง หรืออาจมีเลือดออกในลูกตา หรือติดเชื้อที่ตาในภายหลังได้

 

 


“แก๊สน้ำตา” ออกฤทธิ์เมื่อไหร่


การออกฤทธิ์ของแก๊สน้ำตานี้ จะออกฤทธิ์ในทันทีทันใดที่สัมผัส คือ 0-30 วินาที และจะคงอยู่นานประมาณ 10-30 นาที หลังจากพันการสัมผัสนั้น แต่อาจมีอาการอยู่นานได้ถึง 24 ชั่วโมงขึ้นไป บางทีนานถึง 3 วัน และอาการจะรุนแรงและเป็นอันตรายมากขึ้น หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นมากหรืออยู่ในบริเวณที่มิดชิด ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ

 

 

 

การล้าง “แก๊สน้ำตา” ที่ถูกต้อง ทำอย่างไร


ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือในปริมาณมากๆ ทันที วิธีการล้างให้ปล่อยน้ำให้ไหลผ่านดวงตาเบาๆ นานสักระยะเพื่อให้นำล้างแก๊สน้ำตาออกให้หมด เพราะหากล้างน้ำแรงไปจะทำให้ดวงตาอักเสบหรือกระจกตาเสียหายได้ หลังจากล้างดวงตาเสร็จแล้วให้ล้างใบหน้า มือ ขา ขา ด้วยสบู่ หรือน้ำเปล่าก็ได้ แต่สบู่จะช่วยชะล้างแก๊สน้ำตาได้ดีกว่าน้ำเปล่า และควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

 

 

การใช้สารอื่นใด สัมผัสดวงตาโดยตรง เช่น น้ำนม น้ำมะนาว ยาเคลือบกระเพาะ สิ่งแรกที่จะเกิดคือ อาจระคายเคืองมากกว่าเดิม และเสี่ยงติดเชื้อได้

 

 


การดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล


1. การช่วยเหลือผู้ป่วยควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก และมีลมพัด

 


2. ถอดเครื่องนุ่งห่ม และล้างตัวผู้ป่วยด้วยน้ำ ให้ความระมัดระวังบริเวณข้อพับ ใบหูต้องดูแลเป็นพิเศษ ล้างตัวด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ สำหรับเสื้อผ้าสามารถซักด้วยเครื่องซักผ้า ด้วยผงชักฟอกธรรมดาได้ โดยใช้น้ำเย็นซัก ห้ามใช้น้ำร้อน เนื่องจากอาจทำให้สารเคมีระเหยและเป็นอันตรายต่อผู้สัมผัสได้

 


3. ให้ยาพ่นขยายหลอดลมถ้าผู้ป่วยมีอาการหอบหลังจากการสัมผัสสาร

 


4. ถ้าผู้ป่วยใส่คอนแทคเลนส์ Contact Lens ควรนำคอนแทคเลนส์ ออกและล้างตาด้วยน้ำ ข้างละ 1,000-2,000 ml หากผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองตามาก ลืมตาไม่ได้ให้หยอดยาชา (tetracaine) ก่อนทำการล้างตา

 

 

อย่างไรก็ตามการถูก “แก๊สน้ำตา” จะส่งผลระคายเคือง ต่ออวัยวะต่างๆ ระบบทางเดินหายใจ ถ้าเข้าตา อาจทำให้ตามองไม่เห็น หรือตาบอดชั่วคราว และอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ โดยเฉพาะอาจเป็นอันตราย แก่ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพองอยู่ได้มาก ดังนั้นหากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน

 

 

ข้อมูลจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  , กองอุบัติเหตุและเวชกรรมฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง