แบคทีเรียในลำไส้อาจช่วยให้มนุษย์อายุยืนถึง 100 ปี
ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยโปรตีนมูลนิธิโนโว นอร์ดิสก์ (Novo Nordisk Foundation Center for Protein Research) แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก ได้ศึกษากลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 100 ปี ขึ้นไปจำนวน 176 คน จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าแบคทีเรียในลำไส้อาจเป็นกุญแจสำคัญสู่การมีอายุยืนยาว
ไมโครไบโอม (Microbiome) ที่แข็งแรงคือกุญแจสำคัญ
สำหรับการศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารเนเชอร์ (Nature) เมื่อวัน 31 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ ลำไส้ของพวกเขามีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดี ซึ่งความหลากหลายของจุลินทรีย์สูงมักเกี่ยวข้องกับไมโครไบโอม (Microbiome) ในลำไส้ที่แข็งแรง
โดยทีมนักวิจัยคาดว่าไมโครไบโอมในลำไส้ที่แข็งแรงมีอิทธิพลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและระบบต้านทานต่อการติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้ที่มีไมโครไบโอมในลำไส้ที่แข็งแรงมีสุขภาพและอายุที่ยืนยาวกว่า เมื่อเทียบกับผู้มีไมโครไบโอมในลำไส้ที่อ่อนแอ
การอยู่อาศัยของไวรัส
สำหรับความหลากหลายทางจุลินทรีย์ที่ดีนั้น มีความเกี่ยวข้องทั้งแบคทีเรียและไวรัสในลำไส้ โดยไวรัสไม่ได้อาศัยอยู่ตามผนังลำไส้ของเราเท่านั้น แต่มันยังเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์ของแบคทีเรียในลำไส้ของเราด้วย ส่งผลให้แบคทีเรียบางชนิดเกิดการสร้างโมเลกุลใหม่ที่ทำให้ต้านทานต่อการติดเชื้อโรคใหม่ ๆ
ปัจจุบันทีมนักวิจัยกำลังใช้อัลกอริทึมใหม่สำหรับทำแผนที่แบคทีเรียในลำไส้และไวรัสแบคทีเรียของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อระบุให้แน่ชัดว่าสมดุลที่เหมาะสมของไวรัสและแบคทีเรียมีลักษณะอย่างไรจึงจะส่งผลให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาว นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังต้องหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยว่าจะสามารถปลูกถ่ายหรือเสริมสร้างไมโครไบโอมในลำไส้ที่แข็งแรงให้กับผู้ที่ไม่มีมันได้อย่างไร
ข้อมูลจาก Nature
ภาพจาก Pixabay