'อธิบดีพช.' เยี่ยมชม เฮือนนางคราม อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสกลนคร พัฒนาคุณภาพชีวิต
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล ผอ.สำนักเสริมสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน พช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมเฮือนนางคราม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และลงมือมัดย้อมผ้าครามด้วยตนเอง โดยมีนายเสกสรร ชนาวิโชติ ประธานหอการค้าจังหวัดสกลนครและผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร จำกัด นางละมุน เร่งสมบูรณ์ กรรมการอาวุโสหอการค้าจังหวัดสกลนคร นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร และ นางฐิติมา บุญต่าย เจ้าของบ้าน “เฮือนนางคราม” ให้การต้อนรับ
“เฮือนนางคราม” เป็นแหล่งผ้าย้อมคราม OTOP 5 ดาว ภายใต้ชื่อแบรนด์ “นางคราม” ของคุณฐิติมา บุญต่าย เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้การมัดย้อมผ้าครามในครัวเรือนและเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีหัวใจอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการรับซื้อวัตถุดิบ “ผ้าฝ้ายทอมือ” และ “ย้อมสีครามธรรมชาติ” ปราศจากการใช้สารเคมีเจือปนในทุกขั้นตอน มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ดีไซน์สวยทันสมัย
นางฐิติมา เล่าว่า วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่นำมาใช้เป็นออแกนิค และเป็นวัสดุย้อมครามธรรมชาติ ที่นำมาจากชุมชนใกล้เคียงในจังหวัด ดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นในการย้อมครามธรรมชาติ ซึ่งชื่อเสียงผ้าย้อมครามของเฮือนนางคราม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะสอดแทรกแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปในแต่ละขั้นตอน โดยเฉพาะการผลิตครามที่ไม่ปนเปื้อนสารอันตราย ยิ่งกระบวนการย้อมก็ใช้วิธีการแบบดั้งเดิมเพื่อให้ได้สีสันเข้มสวยงาม สีทน ผสมเทคนิคการย้อมและลวดลายผ้าแบบใหม่ออกสู่ตลาดอยู่สม่ำเสมอ ดึงดูดคนทั่วทุกสารทิศเข้ามาเป็นลูกค้า
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า “ผ้าย้อมคราม ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาชาวสกลนคร ก่อเกิดงานหัตถศิลป์อันเปี่ยมคุณค่าและมีมูลค่าในตัวเอง การส่งเสริมภูมิปัญญาเรื่องผ้าย้อมคราม จึงถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ขอฝากให้ทางเฮือนนางครามจัดให้นักท่องเที่ยวได้ปรุงคราม ย้อมครามด้วยตนเอง เพื่อจะได้ซื้อกลับบ้านได้เลย และฝากให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดได้ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” โดยการเข้ามาฝึกในกระบวนการย้อมผ้าฝ้ายมัดคราม ตั้งแต่การปลูกคราม การปรุงคราม การมัดและย้อมคราม รวมทั้งเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาเครือข่าย OTOP ให้เชื่อมโยงทุกมิติ ประสานภาคีพัฒนาและหอการค้าจังหวัดสกลนครเพื่อหาข้อมูลด้านตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยเพื่อสร้างคุณค่า ส่งเสริมการสืบค้นและบันทึกคลังภูมิปัญญา ส่งเสริมการรักษาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ช่วยปรับปรุงร้านเฮือนนางครามเพื่อโชว์สินค้าให้สวยงาม ตลอดจนประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทางสื่อสารมวลชนทุกระดับ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ปลูกต้นครามในบริเวณเฮือนนางคราม ตามรั้วบ้านและบริเวณใต้ต้นไม้ พร้อมจัดทำเอกสารสิ่งพิมพ์ ทำป้ายประชาสัมพันธ์ 2 ภาษา พร้อมติด QR code ให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้สืบค้นข้อมูลได้”
“โดยเฉพาะจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งปลูกครามที่นำมาสร้างสรรค์งานผ้าได้อย่างงดงาม เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวสกลนครสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และมีกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับการการพัฒนาจนกลายเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับโลก และ “ผ้าย้อมคราม” เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามสีธรรมชาติที่ได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) และเป็นที่นิยมตามกระแสโลกในเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรกับร่างกายและสุขภาพ อีกทั้ง จังหวัดสกลนครยังถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยและเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ที่ได้สภาหัตถศิลป์โลกรับรองให้เป็น นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ (World Craft City for Natural Indigo) และได้รับ GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร” ทั้งหมดนี้จะทำให้สามารถส่งเสริมผ้ามัดย้อมครามให้มีการพัฒนาคุณภาพ สร้างคุณค่าในผลิตภัณฑ์ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วไป สร้างความเชื่อมั่น มีมาตรฐานคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีการสืบสานและพัฒนาสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ดีในระดับชุมชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
สำหรับผู้สนใจที่จะเข้ามาเที่ยวชม เลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากผ้าย้อมคราม หรือมาศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ สามารถแวะเวียนไปที่ร้าน สามารถเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 64 ม.1 ถ.รัฐบำรุง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร หมายเลขโทรศัพท์ 081-871-2945