รีเซต

เฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์โควิด-19 พบตอบสนองวัคซีนลดลง - แพร่กระจายง่าย

เฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์โควิด-19 พบตอบสนองวัคซีนลดลง - แพร่กระจายง่าย
TNN ช่อง16
16 กุมภาพันธ์ 2564 ( 07:17 )
100

วันนี้ (16 ก.พ.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงข่าวถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ว่า เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่หากอยู่ในมนุษย์บางคนหรือสัตว์อาจกลายพันธุ์เร็วกว่าปกติ และการระบาดในที่ต่างๆ ทั่วโลกอาจทำให้เกิดสายพันธุ์เฉพาะถิ่นขึ้นมา ซึ่งที่ต้องเฝ้าระวังมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่


1. 󠁧สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือ สายพันธุ์อังกฤษ ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น แบ่งตัวได้ดีขึ้น และอาจเพิ่มอัตราการป่วยหรือเสียชีวิตเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น


2. สายพันธุ์ B.1.351 หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น และลดการตอบสนองของวัคซีนหลายชนิด ซึ่งหลายประเทศทดสอบพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น


3. สายพันธุ์ P.1 หรือ สายพันธุ์บราซิล คล้ายกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้


ผศ.นพ.โอภาส ระบุว่า สำหรับสายพันธุ์แอฟริกา อัตราการติดเชื้อและแพร่ระบาดจะเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ ติดง่ายกว่า เหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษที่ติดง่าย แต่พบว่า สายพันธุ์แอฟริกามีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ อาจจะส่งผลต่อวัคซีน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้จะรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น เนื่องจากในขณะนี้การแพร่ระบาดหรือจำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะยังมีจำนวนไม่มาก แต่หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างเช่นในประเทศอังกฤษ ก็จะเห็นถึงความรุนแรงของโรคที่มีความต่างกัน 


นอกจากนี้ สายพันธุ์แอฟริกา อาจจะตอบสนองต่อวัคซีนลดลง เพราะวัคซีนถูกออกแบบมาสำหรับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมตัวแรก คือ สารพันธุกรรมไวรัสตั้งต้นที่เป็นตัวสร้างวัคซีน  แต่พอเวลามีการกลายพันธุ์การใช้วัคซีนแบบนั้นอาจจะลดประสิทธิภาพลง แต่ไม่ได้หมายความไม่ได้ผล ซึ่งประสิทธิภาพที่ลดลงอาจจะแตกต่างกันในวัคซีนแต่ละชนิดที่ไม่เท่ากัน


"หลักการของวัคซีน คือร่างกายจะต้องสร้างแอนติบอดี้จับวัคซีน โดยสายพันธุ์แอฟริกา ส่วนนอกของไวรัสมีการบิดหรือเปลี่ยนไปบางส่วน ทำให้แอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากวัคซีนไปจับได้ไม่ดี เช่น อาจจะมีการจับไวรัสแล้วหลุดได้ไม่แน่นพอ ทำให้ไม่สามารถบล็อกจับไวรัสในเซลล์ของมนุษย์  เปรียบไวรัสเหมือนลูกบอลกลมๆ ที่จะต้องไปติดกับเซลล์มนุษย์ถึงจะเข้าไปได้ โดยแอนติบอดี้จะเข้าไปบล็อกส่วนที่ติดกับเซลล์มนุษย์นั่นเอง โดยวัคซีนต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสายพันธุ์ของไวรัส" ผศ.นพ.โอภาส กล่าว 


ผศ.นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย การระบาดระลอกแรกพบว่า ไวรัสมีการเปลี่ยนสายพันธุ์โดยสามารถตรวจได้หลากหลาย ส่วนระลอกใหม่ขณะนี้ยังเป็นเชื้อจากเมียนมาและยังไม่มีการกลายพันธุ์ ตอนนี้มีการติดตามทุก 2 เดือนยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่เพิ่งเริ่มเมื่อธันวาคม 2563 ยังไม่ยาวนานพอที่จะเห็นการกลายพันธุ์


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นแหล่งระบาดของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อังกฤษ และบราซิล เพื่อไม่ให้คนไทยติดเชื้อและเกิดผลกระทบต่อการให้วัคซีน โดยได้หารือการเพิ่มการกักตัวผู้เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาจาก 14 วัน เป็น 21 วัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะไม่พบเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาจากผู้ติดเชื้อก่อนกลับไปใช้ชีวิตปกติ ทั้งนี้ต้องเพิ่มการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง แต่เบื้องต้นอาจจะต้องทำการ SWAB และกักตัว 21 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศบค. ส่วนการรักษาของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดในแต่ละสายพันธุ์ยังไม่มีความแตกต่างกัน



สำหรับสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในไทยตอนนี้  ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ตอนนี้สายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์จากเมียนมา การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงแรก เชื้อมีการกลายพันธุ์ทุก 2 เดือน ส่วนการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ ยังไม่มีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ใหม่  โดยยังเป็นสายพันธุ์จากเมียนมา 


ทั้งนี้ ตามข้อมูลหลักแล้ว พบการกลายพันธุ์ใน 3-4 สายพันธุ์ ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการแพร่ระบาดและไวรัสก็จะพัฒนาเป็นสายพันธุ์เฉพาะในท้องถิ่นนั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก 


หากไทยยังไม่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายในคนไทยได้ มีการติดเชื้อเรื่อยๆมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของประเทศไทย เช่น ประเทศอังกฤษ ก็เป็นเชื้อประจำถิ่นของประเทศ หรือ แอฟริกาใต้ ก็เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นเพราะไม่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อจากคนเป็นคนได้เมื่อใดก็ตามที่เชื้อหลุดจาก 1 คนไปสู่อีก 1 คนอาจจะมีการกลายพันธุ์


“การป้องกันไม่ให้เชื้อกลายพันธุ์ คือ การทำให้เชื้อไม่เข้าสู่ร่างกาย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เพื่อยับยั้งกระบวนการไม่ให้ไวรัสอยู่ในคน และการใช้วัคซีน” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว


สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่เดินทางมาจากแทนซาเนีย เอกซเรย์พบว่าปอดอักเสบ จึงย้ายมารักษาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังรับยาต้านไวรัส ขณะนี้คนไข้อาการดีขึ้น การใช้ออกซิเจนเพื่อรักษาลดลง และอาการดีขึ้นเป็นลำดับ


ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุว่า การที่ประเทศไทย เจอผู้ป่วยรายแรกติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกานั้น ตอนนี้กระทรวงสาธาณรสุข ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  เบื้องต้นเป็นการเจอในสถานกักกันฯ  หลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย  


ขณะที่การห้ามคนที่เดินทางจากแอฟริกาเข้าประเทศนั้น มองว่าอาจไม่ช่วยในการคุมโรค เนื่องจากเชื้อดังกล่าวมีการกระจายไปยังประเทศในยุโรปแล้ว ตอนนี้มาตราการเฝ้าระวังในด่านแรกจึงสำคัญ เมื่อประชาชนเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วกักตัวในสถานกักกันฯ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง