รีเซต

‘สฤษดิ์’ลงพื้นที่หาเสียงช่วย สจ. ลั่นนำยโสธรหายจนอันดับ 2 ของประเทศ

‘สฤษดิ์’ลงพื้นที่หาเสียงช่วย สจ. ลั่นนำยโสธรหายจนอันดับ 2 ของประเทศ
มติชน
14 พฤศจิกายน 2563 ( 15:48 )
87
‘สฤษดิ์’ลงพื้นที่หาเสียงช่วย สจ. ลั่นนำยโสธรหายจนอันดับ 2 ของประเทศ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 14 พ.ย.63 นายสฤษดิ์ ประดับศรี ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยโสธร เบอร์ 3 ในนามคณะก้าวหน้ายโสธร ลงพื้นที่โดมอเนกประสงค์เขตเทศบาลเมืองยโสธร เพื่อช่วยนายวิชัย บรรลือหาญ ผู้สมัครสมาชิกสภากองค์การบริหารส่วนจังหวัด(สจ.) เขต 1 อ.เมืองยโสธร หมายเลข 3 หาเสียงพร้อมทั้งกล่าวปราศรัยนโยบายในการพัฒนาจังหวัดยโสธร ภายใต้สโลแกนว่า “น้ำฮอดนา ไฟฟ้าฮอดท่ง ส่งเสริมศูนย์เกษตรสาธิต ผลผลิตมีหม่องขาย พัฒนาเครือข่ายบทบาทสตรี รายได้ดีจากการท่องเที่ยว” โดยมีประชาชนกว่า 300 คนเข้าร่วมฟัง

 

จุดสองลงพื้นที่วัดบ้านนาสะไมย์ ต.นาสะไมย์ อ.เมืองยโสธร เพื่อช่วยนายสนามชัย ชูเลิศ ผู้สมัคร สจ. เขต 5 อ.เมืองยโสธร หาเสียงและพบปะชาวบ้านโ ดยมีผู้ร่วมฟังปราศรัยกว่า 300 ราย

 

นายสฤษดิ์ กล่าวว่าวันนี้ตนและทีมผู้สมัคร สจ.ทั้ง 30 เขตพร้อมรับใช้และพัฒนายโสธรให้เจริญยิ่งกว่าที่เป็นอยู่โดยการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยจากข้อมูลของ NESDC ระบุว่าจังหวัดในไทยที่มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวน้อยสุด ซึ่งอันดับ 1.เป็น จ.แม่ฮ่องสอน ที่เฉลี่ยเพียงหัวละ 4,864 บาท/เดือน อันดับ 2.คือ จ.ยโสธร ที่เฉลี่ยเพียงหัวละ 5,005 บาท/เดือน ซึ่งนั้นเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขมากที่สุดด้วยนโยบายที่จะนำพาชาวยโสธรให้ลืมตาอ้าปากได้

 

โดยนโยบายหลักของตนคือน้ำฮอดนา ไฟฟ้าฮอดท่ง ส่งเสริมศูนย์เกษตรสาธิต ผลผลิตมีหม่องขาย ขยายบทบาทสตรีก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าจากการท่องเที่ยว นี่คือแนวนโยบายที่ตนคิด ทุกวลีที่นำเสนอต้องทำได้จริง ตรวจสอบได้ มีวิธีการที่ทำได้และเป็นภารกิจที่ อบจ .สามารถทำได้เลยภายใต้กรอบของกฎหมายและวิสัยทัศน์จังหวัด ตนขออธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ต้องถามว่าคนยโสธรมีอาชีพหลักคืออะไรคำตอบที่ได้คือการทำนาทำไร่ปลูกพืชปลูกผักกันใช่หรือไม่ ตนกับทีมงานได้ลงพื้นที่มาก่อนๆที่จะนำมาทำนโยบายมักเจอคำถามที่ว่า จะเอาน้ำจากไหนมาปลูก ปลูกแล้วจะขายที่ไหน นี่จึงเป็นที่มาซึ่งตนได้คิดไว้แล้วมีรายละเอียดดังนี้

 

1.น้ำฮอดนา จัดให้มีระบบธนาคารน้ำใต้ดินและบ่อเปิดทั่วทั้งจังหวัด พัฒนาลำห้วยเดิมคือขุดลอก ทำฝายน้ำล้นเป็นระยะตามลำห้วย ติดตั้งสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 จุด ในลำน้ำยัง ต.เดิด อ.เมืองยโสธรและลำน้ำชีบรรจบลำน้ำยัง ต.ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร ติดตั้งสถานีสูบน้ำขนาดเล็กเพื่อผันน้ำไปสู่ลำห้วยที่ขาดน้ำไกลเคียง 50 จุด

 

2.ไฟฟ้าฮอดท่ง จัดให้มีการติดตามประสานงานทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ในปี 2567 ติดตามประสานงานไฟฟ้าหรือโซล่าเซลล์สู่แหล่งเกษตรในแปลงสาธิต 78 จุดหรือ 78 ตำบลในปี 64 และให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรปีละ 10% ของครัวเรือนที่ทำการเกษตร

 

3.ส่งเสริมศูนย์เกษตรสาธิต ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุกตำบล ทำแปลงสาธิตการผลิตเพื่อลดพื้นที่เพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ จัดหาประสานแหล่งทุนเพื่อการผลิต

 

4.ผลผลิตมีหม่องขาย จัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนจังหวัด ส่งเสริมระบบตลาดซื้อขายล่วงหน้าและตลาดออนไลน์

5.ขยายบทบาทสตรีก้าวหน้า คือการพัฒนาเครือข่ายเยาวชน ผู้สูงอายุและสตรี โดยพัฒนาต่อยอดกิจกรรมเครือข่ายสตรี ส่งเสริมห้องเรียนเพื่อความเป็นเลิศของเยาวชน ผู้สูงอายุและสตรีตามความสนใจ สร้างศูนย์ Care Space พื้นที่การพัฒนาเยาวชน ผู้สูงอายุและสตรี

 

และ 6.เพิ่มมูลค่าจากการค้าจากการท่องเที่ยว โดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดและส่งเสริมการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟหมุนเวียนทุกอำเภอ โดยนโยบายทั้งหมดข้างต้นจะนำพี่น้องชาวยโสธรมีชีวิตที่ดีขึ้น ตนขอโอกาสชาวยโสธรทุกท่านร่วมกันจับมือแล้วเดินไปกับตนและทีม สจ.ทั้ง 30 เขตเพื่อพัฒนายโสธรอีกครั้ง

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง