'หมอธีระวัฒน์' ชี้ปมโควิด-19 เจาะเลือดแล้วมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้แปลว่าไม่มีเชื้อ
‘หมอธีระวัฒน์’ ชี้ปมโควิด-19 เจาะเลือดแล้วมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้แปลว่าไม่มีเชื้อ พร้อมแจงประเด็นตรวจหาเชื้อทางทวารหนัก
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า
“แรงงานที่สมุทรสาครที่ตรวจแยงจมูกหาเชื้อไปครั้งแรก พบเชื้อ เป็น+300 รายวันที่ 27 มกราคมและที่เหลืออีกประมาณ 1,900 ราย ให้ทำงานต่อ
ปรากฏว่าวันที่ 18 กุมภาพันธ์และ 19 กุมภาพันธ์ ส่งเลือดมาให้เราตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่สภากาชาดไทย
พบว่ามีหลักฐานของการติดเชื้อ 283 รายจากเลือดบวกด้วยวิธีมาตรฐาน (ELISA) และเมื่อไปแยงจมูกหาเชื้อพบว่ายังมีเชื้ออยู่ 148 ราย !!!!!
แสดงว่า bubble and seal
โดยการคัดกรองด้วยการแยงจมูกครั้งเดียว ใช้ไม่ได้
และตามข่าว จะเจาะเลือดถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564
เรียนแนะนำด้วยความเป็นห่วงว่า การที่เจาะเลือด หาภูมิคุ้มกัน และพบว่าเลือดมีภูมิ “ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อ”
คนที่เจาะเลือดเป็น บวก “ต้องหาเชื้อทุกราย” และ การหาเชื้อ ต้องกระทำ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่อง จนกว่าแน่ใจว่าไม่มีเชื้อ”
ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังระบุอีกว่า การตรวจหาเชื้อทางทวารหนัก ไม่ใช่เป็นการตรวจปกติที่ทำกัน แต่จะมีประโยชน์ในกรณีที่
1- ผู้ป่วยไม่ได้มาด้วยอาการปกติแบบที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่นมีไอ จมูกไม่ได้กลิ่นหรือ ลิ้นไม่ได้รส
2- โดยที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการของระบบอื่นโดยเฉพาะทางด้านความผิดปกติของลำไส้ เช่นมีอาการปวดท้องหรือมีอาการท้องผูก แปรปรวน
ซึ่งในกรณีนี้แสดงว่าเชื้อเลือกที่จะเข้าไปในช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ช่องทางมาตรฐาน ดังนั้นจึงเหมาะสมสำหรับการแยงที่ทวารหนัก
3- ในกรณีที่ผู้ป่วยน่าจะเป็นผู้ติดเชื้อแต่หาเชื้อไม่เจอจากการแยงจมูกและลำคอ เลยนำมาสู่การตรวจทางทวารหนักแทน
ทั้งนี้ การเลือกตรวจหาเชื้อในช่องทางต่างๆกันนั้น พิจารณาจาก ลักษณะสำคัญที่ผู้ป่วยมาดังเช่น มีอาการอักเสบอย่างรุนแรงของร่างกายหลายระบบทั้งทางผิวหนัง ลิ้น ระบบเลือดและหัวใจ การหาเชื้อในกระแสเลือดเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยที่หาเชื้อจากทางจมูกและลำคออาจจะไม่เจอ?
แต่สิ่งที่ง่ายกว่านั้นคือการเจาะเลือดหาหลักฐานของการติดเชื้อจะเป็นวิธีที่สะดวกแม่นยำและรวดเร็ว