รีเซต

พ.ร.บ.อุ้มหาย ความหวังสุดท้ายของครอบครัวเหยื่อ

พ.ร.บ.อุ้มหาย ความหวังสุดท้ายของครอบครัวเหยื่อ
TNN ช่อง16
25 มิถุนายน 2563 ( 19:11 )
356
พ.ร.บ.อุ้มหาย ความหวังสุดท้ายของครอบครัวเหยื่อ

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสวนสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางมายังบ้านของมึนอ หรือ นางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอย ที่หายตัวไปกว่า 6 ปี ในตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อไปแจ้งผลความคืบหน้าทางคดี และให้กำลังใจต่อนางมึนอ และครอบครัว 


อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า DSI ได้รวบรวมหลักฐานจนชื่อว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้นเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นนิติวิทยาศาสตร์ หรือหลักฐานอื่นๆ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาอัยการจะสั่งไม่ฟ้องบางข้อหา แต่กฎหมายยังให้อำนาจ ในการแสดงความเห็นแย้งได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตนเองเป็นเพียงแค่ผู้ตรวจ จึงไม่สามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีดังกล่าวได้ แต่ปัจจุบันตนเองได้เป็นอธิบดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ซึ่งจะได้ตรวจสอบคดีดังกล่าวด้วยตนเอง 


สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีสาระสำคัญ เช่น 1) กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยไม่ถือเป็นความผิดทางการเมืองอีกต่อไป สามี ภรรยา บุพการี ของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้ 2) กำหนดให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก และ 3) กำหนดระวางโทษความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี และสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และปรับสูงสุดที่ 400,000 บาท



แต่สำหรับ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในภาคประชาชนที่ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย กลับมองว่า ร่างพ.ร.บ.อุ้มหาย ของกระทรวงยุติธรรมนั้น ยังมีช่องโหว่บางอย่าง ที่ควรจะได้รับการแก้ไข ให้สอดคลองกับการที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550  และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ปัจจุบันประเทศไทย ก็ยังไม่มีกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว


ดังนั้น ความคืบหน้าในส่วนของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวานที่ผ่านมา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้มอบอำนาจให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานเดียวที่จะทำการสืบสวนสอบสวน เกี่ยวกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุคคลให้สูญหาย จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตรากฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน

ธนพล สุวรรณจันทร์ ถ่ายภาพ

ณัฐพล ทุมมา สำนักข่าว TNN รายงาน

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง