ดีอี ยกระดับการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย
วันนี้ (10 ก.พ.2565) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Digital Competitiveness 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “Transformation for Citizen Centric Economy” มีผู้ร่วมงานสัมมนาออนไลน์กว่า 500 คน
โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สถาบันจัดอันดับนานาชาติใช้ในการวัดสมรรถนะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ และรวมถึงการใช้เป็นตัวชี้วัดความน่าสนใจในการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศด้วย โดยปี 2564 ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2563 มาอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 64 ประเทศ
และนโยบายของรัฐบาลด้านการปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ มุ่งเน้นการพัฒนา
ระยะยาวอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ได้เปิดเผยว่า “การจัดงานสัมมนา Thailand Digital Competitiveness 2022 เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารข้อมูลสถานะความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินการของประเทศไทย และแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ มุ่งเน้นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการแข่งขันภายใต้บริบทใหม่ของโลก ความพร้อม และการมองถึงอนาคตของประเทศไทยในโลกยุคใหม่ ซึ่งสิ่งที่ยังเป็นประเด็นท้าทาย คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งในการดำเนินงานของภาครัฐในฐานะผู้สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อความสามารถในการแข่งขัน และทุกภาคธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ต้องมีการเตรียมความพร้อมพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ใฝ่รู้ มีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง” นายภุชพงค์ กล่าว