รีเซต

สุชัชวีร์ แจง หลังเพจดังเผยถูกทีมงานบล็อก ท้วงปมใช้ เตตระพอด กันคลื่น สู้น้ำทะเลหนุน

สุชัชวีร์ แจง หลังเพจดังเผยถูกทีมงานบล็อก ท้วงปมใช้ เตตระพอด กันคลื่น สู้น้ำทะเลหนุน
มติชน
30 ธันวาคม 2564 ( 11:55 )
167

จากกรณีที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ได้ออกมาโพสต์ถึงการป้องกันน้ำทะเลหนุน โดยระบุว่า รู้สึกตกใจมาก ที่บางขุนเทียนได้นำเอาบ้องไม้ไผ่มากันคลื่นทะเล ซึ่งจะผุพังไป และยังแนะนำให้ให้เตตระพอด

กระทั่งเกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ที่เพจ วิทย์นอกห้อง ได้ออกมาโพสต์ว่า

 

“เนื่องจากถูกทีมงานพี่เอ้บล็อกทั้งในเพจส่วนตัวและเพจลาดกระบัง เลยขอพูดตรงนี้นะ
พี่เอ้ครับ อันดับแรก พี่เอ้ต้องแยก “หาด” กับ “ฝั่ง” ให้ออกก่อน
พี่เอ้ครับ บางขุนเทียนส่วนใหญ่เป็น “หาดเลน” และที่เอาไม้ไผ่ไปปัก จุดประสงค์หลักไม่ใช่กันคลื่น แต่เป็นการลดแรงคลื่นทำให้ตะกอนตกเพื่อคืนสภาพหาด
พี่เอ้ครับ เตตระพ็อดส่วนใหญ่เขาเอามาวางตรงที่ถมทะเลกับริมชายฝั่งที่ไม่มีหาด
พี่เอ้ครับ น้ำทะเลหนุนเป็นกลไกธรรมชาติที่มีประโยชน์ มันช่วยพัดพาสารอาหารไป-กลับบริเวณปากแม่น้ำกับทะเล หลายประเทศที่ทำโครงสร้างแข็งแบบนี้ พบว่าความอุดมสมบูรณ์ลดลง กระทบการทำประมง
พี่เอ้ครับ สัตว์ที่เข้า-ออกระหว่างช่องว่างของเตตระพ็อด พบว่ามีแต่พวกตัวเล็กๆ พวกตัวพ่อตัวแม่ที่ตัวใหญ่มันเข้า-ออกยากหรือเข้า-ออกไม่ได้เลยครับ
พี่เอ้ครับ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการบุกรุกพื้นที่ริมทะเลและรองลงมาคือตะกอนถูกดักไว้บนแผ่นดิน
ก่อนจะแก้ปัญหาอะไร เราต้องทำความเข้าใจว่ามันมีปัญหาจริงมั้ย สาเหตุคืออะไร แล้วเลือกทางแก้ที่เหมาะสม ไม่ใช่ไปเจออะไรของต่างประเทศแล้วก็เอามาโปะที่บ้านเราครับ”

 

ล่าสุด เอ้ สุชัชวีร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า

“ขอบคุณที่มีข้อท้วงติงเรื่องเขื่อนกันคลื่นที่บางขุนเทียนครับ
การใช้ไม้ไผ่มาปักกันคลื่นนั้น ผมไม่ได้คัดค้านอะไร แต่จุดอ่อนที่เป็นปัญหาคือการผุพังเมื่อใช้ไปนานๆ และหักเมื่อโดนคลื่นลม ตามที่เห็นในรูป ซึ่งด้วยระบบที่เป็นอยู่บางครั้งการซ่อมแซม หรือจะต้องทำใหม่ ดำเนินการได้ช้า ตะกอนที่เคยทับถมที่ผ่านมาก็จะถูกกัดเซาะอีกในระหว่างที่ไม่ได้ซ่อม ปัญหาก็วนไปวนมาไม่จบสิ้น ที่ผมเสนอวิธีการแก้คือการนำหินมาใช้เป็นกำแพงกันคลื่น โดยวางไว้นอกแนวกำแพงไม้ไผ่ เพื่อช่วยต้านแรงคลื่นและที่สำคัญจะช่วยให้แนวกันคลื่นนี้มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่แนวหิ้นทิ้งเหล่านี้มันค่อนข้างแน่น ทำให้สัตว์น้ำ ปู ปลา ไม่สามารถเข้าไปในป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ได้ การใช้เตตระพอดวางแทนนั้นนอกจากเป็นแนวป้องกันที่ถาวรแล้ว ช่องว่างระหว่างเตตะพอดแต่ละชิ้นสามารถให้สัตว์น้ำผ่านได้ ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ครับว่าจะให้แน่นหรือหลวมมากเพียงใด เพื่อให้สัตว์น้ำสามารถผ่านไปได้ รักษาสมดุลธรรมชาติได้ดีกว่าและในอนาคตหากเราไม่ต้องใช้แล้ว หรือจะย้ายไปใช้ที่อื่นก็สามารถขนออกไปได้


รูปที่ลงไปในโพสต์ก่อนหน้านี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่าจะใช้วางติดแนวริมฝั่ง ที่จริงอยากแสดงรูปภาพของเตตระพอดให้เห็นเท่านั้นครับ ขออภัยที่ทำให้สับสน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง