รีเซต

ส่องค่าจ้างขั้นต่ำ จากต่างประเทศสู่ไทย

ส่องค่าจ้างขั้นต่ำ จากต่างประเทศสู่ไทย
TNN ช่อง16
18 พฤษภาคม 2565 ( 09:37 )
212

เศรษฐกิจInsight วันนี้ มีข้อมูลผลสำรวจประเทศประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี2565  ซึ่งพบว่ามี 77 แห่ง จาก 199 แห่งที่สำรวจ  ส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรป  ขณะที่ประเทศไทยติด 1 ใน 84 ประเทศที่ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกำลังเผชิญภาวะค่าครองชีพสูง  สำหรับประเทศไทย จึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องจากฝั่งลูกจ้างให้ปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำอัตราเดียว 492 บาท/วัน ทั่วประเทศ   ขณะที่ฝั่งนายจ้างก็คัดค้าน 


เศรษฐกิจInsight  จึงได้ได้รวบรวมมุมมองและความเห็นของทุกฝ่าย รวมถึงฝั่งรัฐบาลและสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  มาพิจารณาให้รอบด้าน  พร้อมย้อนหลังดูสถิติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยในช่วง 11 ปี  หรือตั้งแต่สม้ัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา  มาไล่เรียงให้เห็นกันว่า มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมากน้อยแค่ไหน และปัจจุบันหากจะปรับค่าจ้างขึ้นต่ำ อัตราที่เหมาะสมควรพิจารณาจากปัจจัยใดบ้าง 


 

มาเริ่มก้นที่ผลสำรวจของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน ได้รวบรวข้อมูลจากเว็ปไซต์ทางการของแต่ละประเทศและรายงานข่าวของประเทศ/ดินแดนเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าแรงขั้นต่ำของภาคเอกชนเป็นหลัก  


โดยข้อมูลปรับปรุงล่าสุดวันที่ 1 พฤษภาคม 2565  พบว่าแม้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว  และหลายประเทศถูกกระทบจากพิษเศรษฐกิจ  แต่ก็ยังเลือกที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  โดยพบว่า ประเทศ/ดินแดนที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2022(2565)  มีจำนวน 77 แห่ง จาก 199 แห่งที่สำรวจ (ในแผนที่คือสีม่วง กับ สีเขียว) 


แบ่งเป็นประเทศที่ประกาศขึ้นเฉพาะในปี 2022 (2565) จำนวน 23 แห่ง จะพบว่ากระจายตัวกันไปในทุกทวีป และส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป  เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส โปรตุเกส สหราชอาณาจักร ฯลฯ


และประเทศที่มีการขึ้นค่าแรงทั้งในปี 2021 (2564) และในปี 2022 (2565) จำนวน 54 แห่ง เช่น ตุรกี ไต้หวัน สเปน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก กานา อียิปต์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป


หากมาดูตัวอย่างประเทศที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะในปีนี้ (2565) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป  ตัวอย่างเช่นในกรณีของเยอรมนีปี 2022 (2565) พบว่ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกมีผล 1 มกราคม ที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 9.82 ยูโร หรือ 374.13 บาทต่อชั่วโมง  จากเดิมคือ 9.60 ยูโรหรือ 358.36 บาทต่อชั่วโมงในปี 2021 (เพิ่มขึ้นมา 22 เซนต์) หรือร้อยละ 3.64   นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมันยังประกาศอีกว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งเป็น 10.45 ยูโรในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022


หรือกรณีฝรั่งเศส ที่เคยประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 (2565)  และยังมีการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 10.57 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 10.85 ยูโรต่อชั่วโมง  ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2022 (2565) โดยกระทรวงแรงงานฝรั่งเศสระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น


ในส่วนของ “เอเชีย” ก็มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2022 (2565) เช่นเดียวกัน เช่น กัมพูชา จีน (บางมณฑล) อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฯลฯ  โดยในกรณีของประเทศจีนในปีนี้  มี 3  มณฑลที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ ฉงชิ่งและฝูเจี้ยน ขึ้นเป็น 21 หยวนต่อชั่วโมง  และเหอหนาน ขึ้นเป็น 19.6 หยวน ต่อชั่วโมง  ขณะที่ กัมพูชา กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565  สำหรับแรงงานประจำ อยู่ที่ 194 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2 ดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2564 ที่กำหนดไว้เดือนละ 192 ดอลลาร์สหรัฐฯ 


จากการสำรวจยังพบว่า ในส่วนของประเทศที่ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวน 84 แห่งจาก 199 แห่งที่สำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบแอฟริกา เช่น อูกันดา โตโก เวียดนาม ซูดาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีเหนือ พม่า รวมไปถึงประเทศไทย (ในแผนที่จะเป็นสีส้ม) 


เราจะมาขยายประเด็นสำหรับประเทศไทยกัน ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่า ประเทศไทยมีการประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำมาตั้งแต่ปี 2516  โดยเริ่มจาก 12 บาทในรัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจร และล่าสุดอยู่ที่ 331 บาท (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ซึ่งขึ้นเมื่อปี 2563 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  


หากพิจารณาดูจากข้อมูลจะพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยนั้นมีความไม่แน่นอน และในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน รวมไปถึงบางครั้งก็มีการขึ้นบางพื้นที่ไม่ขึ้นบางพื้นที่ อย่างในกรุงเทพมหานคร มีการขึ้นในปีเดียวสองครั้งในช่วงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์, รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยอยู่ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเพิ่มจาก 215 บาท เป็น 300 บาท


สำหรับปัจจุบันมีข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นเป็นอัตราเดียว 492 บาทต่อวัน กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่ 


แต่ก่อนจะไปดูข้อถกเถียงดังกล่าววไปเจาะลึกสถิติย้อนหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยทั่วประเทศที่น่าสนใจตั้งแต่ปี 2555-2565 กันก่อน ซึ่งพบว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 159-221 บาทต่อวัน เป็น 300 บาทต่อวันทุกจังหวัด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5  โดยในวันที่ 1 เมษายน 2555  มีผลบังคับใช้เฉพาะ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต รวม 7 จังหวัดก่อน ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 222-300 บาทต่อวัน 


จากนั้นในปี 2556 รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งใน 70 จังหวัดที่เหลือ  ทำให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน อยู่ที่ 300 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งถือเป็นการทำตามนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้


แต่หลังจากปี 2556 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ขยับขึ้นอีกหลายปี จนกระทั่งปี 2560 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 300-310 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 310 บาทต่อวัน ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต


และต่อมาในปี 2561 รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งจาก 300-310 บาทต่อวัน เป็น 308-330 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2561 โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 330 บาทต่อวัน ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต  ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน


จากนั้น หลังการเลือกตั้งปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 308-330 บาทต่อวัน เป็น 313-336 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 336 บาทต่อวัน ได้แก่ ชลบุรี และภูเก็ต ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน


ปัจจุบันปี 2565 ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้ว 2 ปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ดังนั้นในช่วง 11  ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยจึงเพิ่มขึ้นเพียง 13-36 บาทต่อวัน


ดังนั้นในภาวะปัจจุบันที่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ค่าจ้างไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น  ทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกัน 492 บาท


สาระสำคัญบางส่วนของจดหมายฯระบุว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เคยแถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้แต่ประการใด และที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2552-2560  


นอกจากนี้ เหตุผลในการขอปรับเพิ่มนั้นมาจากการ “สำรวจความคิดเห็น” จากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแสดงถึงความต้องการถึงความเดือดร้อนค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยใช้ข้อมูลการสำรวจจากความเดือดร้อนของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2560 ผลสรุปจากแบบสอบถามคือค่าใช้จ่ายรายวันๆ ละ 219.92 บาท เดือนละ 6,581.40 บาท (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท หากนำค่าใช้จ่ายรายวัน


เมื่อนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดมารวมกันเป็นรายเดือนจะอยู่ที่ 21,352.92 บาท เป็นค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท แต่ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอมโดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน


ดังนั้น ตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่ วันละ 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เหตุเพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีการปรับพร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้เลือกเขต เลือกโซน เลือกจังหวัด และ เกือบทุกรายการราคาสินค้าในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพมหานคร และส่วนกลาง


ขณะที่ สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ และสมาคมนายจ้าง 40 – 50 สมาคมนายจ้าง ก็เคลื่อนไหวคัดค้าน โดยยื่นหนังสือให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา บอกจุดยื่นไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 331 (อัตราค่าจ้างขึ้นต่ำในกรุงเทพฯและปริมณฑล) บาทเป็น 492 บาททั่วประเทศ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำตามความเป็นจริงและเหมาะสม


เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ผู้ประกอบการนายจ้างบางประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานขาดแคลน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบ ตลอดจนสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน รัสเซียยังไม่นิ่ง  


ดังนั้นกรณีจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงขอให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนด เนื่องจากสภาองค์การนายจ้าง และสมาคมนายจ้าง ยังไม่เห็นสมควรขึ้นในช่วงนี้ และเห็นสมควรให้คณะกรรมการไตรภาคี โดยฝ่ายภาครัฐเป็นผู้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอ

ทั้งนี้ การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น จะมีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง  ทำหน้าที่พิจารณอย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน 



ทางด้านรัฐบาลถือโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ  1 พฤษภาคม 2565  ออกมาชี้แจง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ระบุว่า ข้อเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศในอัตรา 492 บาทนั้น  ต้องพิจารณาประกอบการทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน พร้อมยืนยันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำปรับอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการรับข้อเสนอของทุกฝ่าย แต่ต้องให้ความเป็นธรรมโดยไม่มีการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เข้าข้างฝ่ายนายจ้างแต่อย่างใด  


โดยขณะนี้คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565  จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าปรับขึ้นในพื้นที่ใดและเท่าใดภายในเดือนกันยายนนี้  


จากความเห็นที่หลากหลายเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียว 492 บาทต่อวันทั่วประเทศอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่จะเคาะที่อัตราเท่าไรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะท่ามกลางเงินเฟ้อสูง  แต่เศรษฐกิจฟื้นช้า  โดยล่าสุดสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือขยายตัวร้อยละ2.5-3.5  จากเดิมร้อยละ3.5-4.5  ขณะที่เพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นร้อยละ 4.2-5.2  จากเดิม 1.5-2.5    ดังนั้น คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าในเดือนกันยายนนี้ คณะกรรมการไตรภาคีจะเคาะตัวเลขค่าจ้างต่ำเป็นเท่าไรที่เหมาะสมให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างอย่างเป็นธรรม 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง