รีเซต

ผู้ใช้แรงงานรวมตัว จี้ “แบงก์ชาติ” ส่งชื่อเป็นคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแทน “เมธี” หวังเร่งพิจารณาปรับค่าขั้นต่ำ 400 บาท

ผู้ใช้แรงงานรวมตัว จี้ “แบงก์ชาติ” ส่งชื่อเป็นคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแทน “เมธี” หวังเร่งพิจารณาปรับค่าขั้นต่ำ 400 บาท
TNN ช่อง16
24 กันยายน 2567 ( 13:30 )
14

นายแสงชัย อนมนวล (อ่านว่า แสง-ชัย อะ-นม-นวน ) เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นำตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย รวมตัวกันมายื่นหนังสือถึง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ โดยกล่าวว่า วันนี้ (24 ก.ย.67) อยากขอความชัดเจนจากแบงก์ชาติว่าจะส่งรายชื่อใครเป็นผู้แทนแบงก์ชาติ เนื่องจากวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 2 เพื่อพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นรอบที่ 3 ของปี แต่พบว่า ไม่สามารถจัดการประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 โดย นายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนแบงก์ชาติที่เกษียณอายุราชการแล้วไม่เข้าร่วมประชุม และเป็นตัวแทนภาครัฐ จึงอยากขอให้แบงก์ชาติจัดส่งรายชื่อผู้แทนในส่วนของแบงก์ชาติเข้าเป็นคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 20 แทนนายเมธีต่อไป

นายแสงชัย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับมติของไตรภาคี ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ภาครัฐ , ลูกจ้าง และนายจ้าง ย้ำว่า นี่ไม่ใช่นโยบายทางการเมือง ซึ่งหากมีการประชุมแล้ว มติจะออกมาเป็นอย่างไรก็ควรเป็นไปอย่างนั้น 

เมื่อถามว่า ต้องการส่งสัญญาณอะไรให้กับไตรภาคีหรือไม่ นายแสงชัย กล่าวว่า ถือเป็นอำนาจที่มีและต้องพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนส่วนมาก โดยฝั่งลูกจ้างยังรอคอยมติ และยกตัวอย่าง ลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปี แต่ค่าแรงที่ได้อยู่ที่ 370 บาท และบางคนยังไม่ถูกปรับขึ้นค่าแรงด้วย

กรณีหากไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงยังไหวหรือไม่ นายแสงชัย กล่าวว่า จากกานสอบถามแรงงานบอกว่า ไม่ไหวแล้ว และที่ผ่านมา มีการหาเสียงบอกว่า จะปรับขึ้นค่าแรง ก็ทำให้ราคาของกิน เช่น ไข่ ปลากระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปรับขึ้นราคาไปแล้ว รวมถึงราคาน้ำมัน โดยทุกวันนี้ทำงานไม่คุ้มกับค่าเหนื่อย 

ส่วนเรื่องนี้มองว่าเป็นเกมส์การเมืองหรือไม่ นายแสงชัย กล่าวต่อว่า ขอไม่แตะเรื่องนี้ขออยู่กลางๆดีกว่า ซึ่งเรามาในนามตัวแทนลูกจ้าง แต่อยากให้ไตรภาคีใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอย่างเต็มที่และเหมาะสมน่าจะดีกว่า 

จากนั้น นายแสงชัย ได้ยื่นหนังสือให้กับนางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร แบงก์ชาติ

โดยเส้นทางค่าแรงขั้นต่ำไทย พ.ศ.2547-2567 ประเทศไทยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรก เมื่อปี 2516 และกลายเป็นนโยบายเรือธงที่พรรคการเมืองต่างชูขึ้นเพื่อดึงดูดคะแนนเสียงจากประชาชนมาตลอด แต่หากย้อนดูการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า นับแต่ปี 2547 มาถึงปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำไทย ขึ้นมาราว 200 บาทเท่านั้น ปัจจุบัน อยู่ที่ 330-370 บาท ส่วนความหวังจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ก็ยังไม่ชัดเจน และดูเหมือนจะไม่ทันต้นเดือนตุลาคม ตามที่มีการคาดหวังกันไว้(เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67)

ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์





ข่าวที่เกี่ยวข้อง