“ยานคอสมอส 482” กลับมาโลกแล้ว หลังกลายเป็นขยะอวกาศนาน 53 ปี

ยานคอสมอส 482 (Kosmos 482) ได้ตกลงสู่โลกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 หลังจากเป็นขยะอวกาศที่โคจรรอบโลกมานานกว่า 5 ทศวรรษ โดยรัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) ในฐานะองค์การอวกาศแห่งชาติของรัสเซียประกาศว่า ยานได้ร่วงลงสู่บรรยากาศโลกเมื่อเวลา 13:24 น. (ตามเวลาประเทศไทย) บริเวณอ่าวเบงกอลในมหาสมุทรอินเดีย ไม่เกิดอันตรายใด ๆ ต่อประชาชน
แม้ยานคอสมอส 482 จะมีชะตาจบลงที่การร่วงลงสู่โลก แต่เป้าหมายดั้งเดิมที่ยานลำนี้จะลงจอดคือ ดาวศุกร์ ยานคอสมอส 482 เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเวเนรา (Venera program) ของอดีตสหภาพโซเวียต ที่มีการส่งยานสำรวจดาวศุกร์หลายลำ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 - 1980
สำหรับยานคอสมอส 482 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 1972 แต่จรวดที่ใช้ส่งยานมีปัญหาทำให้ยานไม่สามารถออกจากวงโคจรรูปวงรีรอบโลกได้ จึงกลายเป็นขยะอวกาศที่โคจรรอบโลกมาตลอด 53 ปี ซึ่งแรงฉุดจากบรรยากาศชั้นบนของโลกทำให้ยานค่อย ๆ ลดระดับลงมา จนนำไปสู่จุดจบของยาน
ปกติแล้ว พวกขยะอวกาศชิ้นใหญ่ เช่น ดาวเทียมที่หมดสภาพและท่อนจรวดที่ใช้งานแล้ว จะแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยพร้อมกับลุกไหม้ระหว่างที่ร่วงลงสู่โลก ส่งผลให้เกิด “ฝนดาวตกเทียม” แต่กรณียานคอสมอส 482 นั้น ไม่น่าจะแตกออกระหว่างที่ลุกไหม้ตอนฝ่าบรรยากาศโลก เนื่องจากยานลำนี้ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อการฝ่าบรรยากาศหนาทึบของดาวศุกร์
ยานคอสมอส 482 มีขนาดความกว้าง 1 เมตร และมีมวลประมาณ 495 กิโลกรัม Marco Langbroek นักติดตามดาวเทียมชาวเนเธอร์แลนด์ประเมินว่าหากยานไม่แตกตัวออกตอนพุ่งฝ่าบรรยากาศโลก ยานจะมีอัตราเร็วตอนถึงพื้นผิวโลกที่เกือบ 67 เมตร/ วินาที
นอกจากนี้ การร่วงลงสู่พื้นโลกของยานคอสมอส 482 ทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาขยะอวกาศรอบโลกที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้ว ในทุกวันจะมีเศษขยะอวกาศขนาดใหญ่ประมาณสามชิ้นตกลงสู่พื้นโลก และจำนวนนั้นกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จากข้อมูลขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) พบว่าในวงโคจรรอบโลกมีดาวเทียมอยู่ประมาณ 14,240 ดวง โดย 11,400 ดวงเป็นดาวเทียมที่มีสถานะปฏิบัติภารกิจอยู่ ดาวเทียมส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มฝูงดาวเทียมเครือข่ายอินเตอร์เน็ต Starlink ของ SpaceX บริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ ซึ่งมีดาวเทียมในฝูงอยู่ประมาณ 7,200 ดวงในปัจจุบัน แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจาก Starlink แล้ว ยังการสร้างกลุ่มฝูงดาวเทียมขนาดใหญ่กลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย เช่น Amazon บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เพิ่งส่งกลุ่มดาวเทียมชุดแรกสำหรับเครือข่ายให้บริการอินเตอร์เน็ตของ Project Kuiper (บริษัทลูกของ Amazon) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ฝูงดาวเทียมของ Amazon จะมีดาวเทียมมากถึง 3,200 ดวง และทางประเทศจีนกำลังมีแผนสร้างฝูงกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ต 2 กลุ่ม ที่แต่ละกลุ่มจะมีดาวเทียม 13,000 ดวง
“จากปริมาณการจราจรทางอวกาศที่เพิ่มขึ้น เราจึงคาดว่าความถี่ของการร่วงลงมาสู่โลกของขยะอวกาศจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต” ทางเจ้าหน้าที่ ESA กล่าว
ความเสี่ยงจากการร่วงลงสู่โลกของขยะอวกาศแต่ละครั้ง ที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากมีขยะอวกาศส่วนใหญ่ถูกเผาไหม้ในบรรยากาศโลก และถึงมีเศษซากหลงเหลือแล้ว พื้นที่ที่ตกมักจะเป็นมหาสมุทรหรือบริเวณพื้นทวีปที่รกร้าง (ตามพื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นผิวโลก) แต่เมื่อปริมาณขยะอวกาศที่ร่วงลงสู่โลกเพิ่มขึ้น โอกาสที่ผลกระทบเลวร้ายจะเกิดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
การร่วงลงสู่โลกของขยะอวกาศยังมีผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย เช่น มลภาวะจากการเผาไหม้ของขยะอวกาศระหว่างที่เศษเหล่านี้กำลังพุ่งฝ่าบรรยากาศ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อชั้นโอโซนและสภาพอากาศของโลก