รีเซต

อินโดนีเซีย ล็อบบี้อนามัยโลก ขอเป็นฮับวัคซีนโควิด-19แห่งที่ 2 ของโลก

อินโดนีเซีย ล็อบบี้อนามัยโลก ขอเป็นฮับวัคซีนโควิด-19แห่งที่ 2 ของโลก
มติชน
16 กันยายน 2564 ( 15:44 )
34
อินโดนีเซีย ล็อบบี้อนามัยโลก ขอเป็นฮับวัคซีนโควิด-19แห่งที่ 2 ของโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 16 กันยายนนี้ว่า นายบูดี้ กุนนาดี้ ซาดิกิน รัฐมนตรีสาธารณสุขของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ทางการอินโดนีเซียกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เพื่อให้ได้รับสถานะเป็น ศูนย์กลางในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 แห่งที่ 2 ของโลก ต่อจาก แอฟริกาใต้ ในเวลาเดียวกันก็กำลังเจรจาอยู่กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน 6 บริษัท เพื่อขอให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนทันสมัยให้ โดยมีสัญญาผูกพันในการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยน

 

 

นายบูดี้ เปิดเผยว่า กำลังดำเนินการร่วมกับ ดับเบิลยูเอชโอ เพื่อให้อินโดนีเซียกลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตวัคซีนประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอ โดยได้หารือและล็อบบี้เรื่องนี้โดยตรงกับนาย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ ในระหว่างที่ตนเดินทางเยือนยุโรปเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ โดยองค์การอนามัยโลกได้เลือกแอฟริกาใต้ เป็นฮับวัคซีนโลกแห่งแรกไปแล้ว อินโดนีเซียก็เหมาะสมที่จะเป็นฮับแห่งที่ 2

 

 

ฮับวัคซีนโลก เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของดับเบิลยูเอชโอ ในการผลักดันให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนให้กับ “ฮับเพื่อการถ่ายโอนเทคโนโลยี” เหล่านี้ เพื่อให้การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นสนองตอบต่อความต้องการ ในเวลาเดียวกันก็เป็นการสร้างศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการผลิตวัคซีนเจเนอเรชันใหม่ อย่าง ไฟเซอร์/ไบออนเทค และ โมเดอร์นา ซึ่งสามารถปรับให้สามารถรับมือกับแวเรียนท์ใหม่ๆ ได้เร็วกว่า

 

 

ทั้งนี้ในการดำเนินการกรณีแอฟริกาใต้นั้น เป้าหมายก็เพื่อให้สามารถ ถอดแบบ การผลิตวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ จากบริษัทโมเดอร์นา ขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างแอฟริกาใต้และโมเดอร์นา ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของดับเบิลยูเอชโอ เชื่อว่า โครงการนี้กว่าจะเป็นจริงได้ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย

 

 

รอยเตอร์ระบุว่า โฆษกขององค์การอนามัยโลกผู้หนึ่งเปิดเผยว่า อินโดนีเซีย เป็น 1 ใน 25 ประเทศในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ที่แสดงความสนใจในการทำหน้าที่เป็นฮับวัคซีนโลก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครคือประเทศที่มีโอกาสจะได้รับสถานะนี้

 

 

ทั้งนี้นายบูดี้ อ้างว่า อินโดนีเซียสนใจที่จะสร้างความชำนาญในการพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ รวมทั้งวัคซีนประเภท ไวรัลเวคเตอร์ แบบที่ใช้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ด้วย และเชื่อว่า อินโดนีเซียอยู่ในสถานะที่ดีที่จะผลิตและส่งออกวัคซีนไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ประเทศมุสลิม เพราะสามารถการันตีได้ว่า วัคซีนที่ผลิตในอินโดนีเซียเป็นวัคซีนฮาลาล มุสลิมสามารถใช้ได้ทันที

 

 

นอกจากนั้น ทางอินโดนีเซียกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผลิตและพัฒนาวัคซีนหลายบริษัท อาทิ อันฮุย, วาลแวกซ์, ซิโนแวค, เจเนซีน, อาร์คทูรัส เธราพิวอิค และโนวาแวกซ์ เพื่อทำหน้าที่ตั้งแต่ การบรรจุขวดและพร้อมจัดส่ง เรื่อยไปจนถึงการผลิตและพัฒนาในระดับต้นน้ำ รวมทั้งเปิดกว้างในการเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้าหรือ ไฟเซอร์ ด้วยเช่นกัน

 

 

นายบัมบัง เฮริยันโต ผู้บริหาร ไบโอ ฟาร์มา บริษัทผู้ผลิตยาที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า การเจรจากับบริษัทเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยี แต่การสร้างโรงงานผลิตวัคซีนเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง