เจ๊งSTARKถ้วนหน้า 12กองทุนมูลค่าวูบ
หมดอนาคต STARK เทรดวันแรกวูบแรง 92% เหลือ 0.18 บาท กองทุนที่ถือหุ้นเพิ่มทุน 3.72 บาท มูลค่าหายวับ บลจ.บัวหลวง-กสิกรไทย อ่วมพันล้านบาท BTS ดวงตกโดนอีก 180 ล้านบาท โบรกชี้ต้องเดาทางรอดเหนื่อย มีแต่โดนแห่ขาย แนะหลีกเลี่ยง
การเปิดเทรดวันแรกของ "บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" หรือ STARK ถูกแรงกระหน่ำเทขายอย่างรุนแรง จนราคาหุ้นดิ่งสยองมากกว่า 90% จากราคาล่าสุดก่อนถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ที่ 2.38 บาท โดย STARK เปิดตลาดที่ 0.25 บาท ขึ้นได้สูงสุดที่ 0.34บาท ก่อนปิดตลาดที่ 0.18 บาท ลดลง 92.44%เทียบราคาปิดครั้งก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงเยอะมาก และนั้นทำให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกองทุนที่ถือหุ้น STARK มูลค่าลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะกองทุนที่เข้าใส่เงินเพิ่มทุน STARK ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ราคา 3.72 บาท ติดกับดักกันอื้อ
@ 12 สถาบันอ่วม
สำหรับกองทุนที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน STARK 12 กองทุน ประกอบด้วย The Hongkong and Shanghai Banking Corporation จำนวนหุ้นที่ถือ 353,000,000หุ้น ต้นทุน 1,313,160,000 บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด (1 มิ.ย.) 63,540,000บาท ขาดทุน 1,249,620,000 บาท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จํากัด จำนวนหุ้นที่ถือ 320,000,000 หุ้น ต้นทุน 1,190,400,000บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 57,600,000 บาท ขาดทุน 1,132,800,000บาท
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จํากัด จำนวนหุ้นที่ถือ 268,817,200หุ้น ต้นทุน 999,999,984 บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 48,387,096บาท ขาดทุน 951,612,888 บาท บริษัท เอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จํากัด จำนวนหุ้นที่ถือ 182,000,000 หุ้น ต้นทุน 677,040,000 บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 32,760,000บาท ขาดทุน 644,280,000บาท
Credit Suisse (Singapore) Limited จำนวนหุ้นที่ถือ 74,399,900หุ้น ต้นทุน276,767,628 บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 13,391,982บาท ขาดทุน 263,375,646บาท UOB Kay Hian Private Limited จำนวนหุ้นที่ถือ 58,500,000หุ้น ต้นทุน 217,620,000 บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 10,530,000บาท ขาดทุน 207,090,000 บาท
@ BTS พลาดท่าอีก
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จํากัด จำนวนหุ้นที่ถือ 53,763,000หุ้น ต้นทุน 199,998,360บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 9,677,340บาท ขาดทุน 190,321,020 บาท บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) จำนวนหุ้นที่ถือ 51,000,000หุ้น ต้นทุน 189,720,000 บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 9,180,000 บาท ขาดทุน 180,540,000บาท
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จํากัด จำนวนหุ้นที่ถือ 47,029,800หุ้น ต้นทุน 174,950,856บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 8,465,364บาท ขาดทุน 166,485,492 บาท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จํากัด จำนวนหุ้นที่ถือ 32,490,100หุ้น ต้นทุน 120,863,172บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 5,848,218บาท ขาดทุน 115,014,954 บาท
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) จำนวนหุ้นที่ถือ 30,000,000หุ้น ต้นทุน 111,600,000 บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 5,400,000บาท ขาดทุน 106,200,000 บาท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จํากัด (มหาชน) จำนวนหุ้นที่ถือ 29,000,000 หุ้น ต้นทุน 107,880,000บาท มูลค่าราคาปิดล่าสุด 5,220,000บาท ขาดทุน 102,660,000 บาท
@ ใครซื้อ STARK
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาปิดของ STARK ที่ 0.18บาท เกิดจากการที่นักลงทุนไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับงบการเงิน ประกอบกับมีผู้ถือหุ้นกู้ต้องการเงินคืน ทำให้ STARK ต้องการเงินมาคืน และอาจจะมีปัญหาเรื่องการเงิน ทำให้มีแรงเทขาย โดยมองว่า ผู้ที่ถือหุ้น STARK กองทุนต่างๆ จำเป็นต้องเทขาย ส่วนผู้ซื้อนั้นจะเป็นเพียงนักเก็งกำไร กับผู้ที่รู้อินไซด์เรื่องมูลค่า STARK นักลงทุนรายอื่นไม่มีสิทธิรู้ ดังนั้นจึงไม่ควรเข้าไปลงทุน ส่วนมูลค่าหากจะมองต้องติดตามว่าเสียหายเท่าไหร่ ถ้าเสียหายไม่เกิน 5 พันล้านบาท อาจจะกู้คืนด้วยการเพิ่มทุนใส่เงินเข้ามาได้ หรือถ้ามากกว่านั้นแต่ไม่เกิน 1.1 หมื่นล้านบาทอาจจะใช้วิธีการขายสินทรัพย์ออกไป แต่หากเกิน 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าส่วนทุนนั้น มองว่าอาจจะไม่คุ้มค่ากับการกู้คืนบริษัท ดังนั้นนักลงทุนต้องติดตามงบที่จะออกมา 16 มิถุนายนนี้ และต้องติดตามว่า STARK จะหาเงินมาคืนผู้ถือหุ้นกู้ได้ในอีก 30 วันหรือไม่
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ปัจจัยที่ต้องสนใจอยู่ 2ประการ คือ 1. ด้านสินค้าคงเหลือ เมื่อเปลี่ยนผู้สอบบัญชีแล้ว ให้ตรวจนับสินค้าคงเหลือ 100% จึงต้องใช้เวลาอยู่มาก ซึ่งเป็นที่มาของการส่งงบการเงินปี 2565 ได้ล่าช้า และในที่สุดแล้วผลจะมีการด้อยค่าสักเท่าใด และ 2. เงินเพิ่มทุนที่ได้รับถึง 5,580 ล้านบาท ก็อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ และต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุน เพราะได้มีการยกเลิกการซื้อ หุ้น LEONI ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางลบ
นอกจากนี้จากการที่ผู้ถือหุ้นกู้บริษัทผิดนัดชำระหนี้หรือยกเว้นให้ ผลคือ มี 2 ชุด มูลหนี้ 2,241 ล้านบาท ให้ผิดนัดชำระหนี้ (Technical Default) ส่วนอีก 3ชุด มูลหนี้ 5,635.4 ล้านบาท ยกเว้นให้ แต่ไปเข้าเกณฑ์ Cross Default หรือ ถือว่าผิดนัดทั้งหมด สรุปคือ บริษัทจะต้องจ่ายหนี้โดยพลันจำนวนมากถึง 7,876.4ล้านบาท ความเสี่ยงคือ กิจการจะมีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ ทางบริษัทแจ้งว่าเมื่อพร้อมก็จะเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ต่อไป