รีเซต

โลกของเราอาจมีน้ำมาตั้งแต่เกิด รวมถึงดาวเคราะห์หินอื่น ๆ ด้วย

โลกของเราอาจมีน้ำมาตั้งแต่เกิด รวมถึงดาวเคราะห์หินอื่น ๆ ด้วย
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2566 ( 18:18 )
62
โลกของเราอาจมีน้ำมาตั้งแต่เกิด รวมถึงดาวเคราะห์หินอื่น ๆ ด้วย

เดิมทีแล้วนักดาราศาสตร์มีความเชื่อว่าน้ำบนโลกของเราเกิดขึ้นจากการพุ่งชนของอุกกาบาต ซึ่งเป็นตัวนำพาโมเลกุลของน้ำเข้ามาบนโลก แต่ผลการศึกษาดาวฤกษ์พีดีเอส 70 (PDS 70) ชี้ว่าน้ำอาจอยู่บนโลกของเรามาตั้งแต่กำเนิด

ดาวพีดีเอส 70 (PDS 70) กระจกสะท้อนวัยเยาว์ของดวงอาทิตย์ 

พีดีเอส 70 มีความคล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรา นั่นก็คือ เป็นดาวฤกษ์เหมือนกัน แต่พีดีเอส 70 มีอายุน้อยกว่าดวงอาทิตย์อยู่มาก มีอายุเพียง 5.4 ล้านปี ในขณะที่ดวงอาทิตย์มีอายุ 4,600 ล้านปี นอกจากนี้ยังมีความคล้ายคลึงอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มันมีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบ ๆ เหมือนกัน แต่ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบพีดีเอส 70 กำลังอยู่ในกระบวนการก่อตัว จึงเปรียบเสมือนกับโลกของเราและดาวเคราะห์หินดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะในช่วงเวลาที่พวกมันกำลังก่อตัวขึ้นจากฝุ่น


ปัจจุบันพีดีเอส 70 ถูกรายล้อมไปด้วยฝุ่นจำนวนมากที่มีลักษณะเหมือนจานแบน เนื่องจากมีดาวเคราะห์หินกำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งผลการตรวจสอบด้วยเครื่องมืออินฟราเรดช่วงกลาง (MIRI) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) พบว่าในจานฝุ่นนั้นมีอนุภาคของน้ำอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์หินที่ก่อตัวขึ้นในบริเวณดังกล่าวจะมีน้ำอยู่บนพื้นผิว ซึ่งนักดาราศาสตร์สามารถตั้งสมมุติฐานต่อได้ว่า โลกของเราอาจมีน้ำมาตั้งแต่กำเนิดเหมือนดาวเคราะห์หินพวกนี้


หรือน้ำจะอยู่บนโลกของเรามาตั้งแต่กำเนิด ? 

โดยนักดาราศาสตร์คาดว่าน้ำที่พบเจอในจานฝุ่นนี้อาจมาจากตอนที่ดาวฤกษ์พีดีเอส 70 เป็นเพียงเนบิวลา (Nebula) ก่อนที่มันจะยุบตัวกลายเป็นดาวฤกษ์ หลังจากนั้นเศษซากที่เหลือจากการยุบตัวของดาวฤกษ์พีดีเอส 70 ก็ได้ก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ ซึ่งจะโคจรรอบดาวฤกษ์พีดีเอส 70 ตามแรงโน้มถ่วงของตัวดาวฤกษ์ คล้ายกับที่ดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะโคจรรอบดวงอาทิตย์ การศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) เช่นนี้ จึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาระบบสุริยะของเราได้


อย่างไรก็ตาม กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ล้มเหลวในกระบวนการตรวจสอบน้ำที่บริเวณใจกลางของจานฝุ่น ซึ่งเป็นจุดที่ดาวเคราะห์หินกำลังก่อตัวอยู่ เนื่องจากจานฝุ่นมีความหนาแน่นมาก จนเครื่องมืออินฟราเรดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ไม่สามารถมองทะลุเข้าไปยังใจกลางของจานฝุ่นได้


นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์บางส่วนยังมองว่ากระบวนการก่อตัวของดาวเคราะห์มักก่อให้เกิดการแผ่รังสีรุนแรง ซึ่งรังสีเหล่านี้อาจไปทำลายโมเลกุลของน้ำเกือบทั้งหมด พวกเขาจึงมองว่าเมื่อกระบวนการก่อตัวของมันเสร็จสิ้น ดาวเคราะห์หินดวงนี้จะไม่เหลือน้ำอยู่บนพื้นผิวเลย


ส่วนเหตุผลที่นักดาราศาสตร์ตามหาว่าน้ำมาอยู่บนโลกของเราได้อย่างไร ก็เพื่อไขปริศนาการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร


ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก Max-Planck-Gesellschaft

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง