รีเซต

กพร. เปิดตัวแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบครั้งแรกของไทย

กพร. เปิดตัวแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบครั้งแรกของไทย
ข่าวสด
17 พฤศจิกายน 2564 ( 21:18 )
122

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบแบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออนต้นแบบ ว่า กพร. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบ ในการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ทางเลือกโดยใช้วัตถุดิบจากเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินเป็นครั้งแรกของประเทศไทย หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคตซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก สอดคล้องกับประเทศไทยกำหนดนโยบายรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก

 

 

“ไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ คิดเป็นต้นทุนหลักประมาณ 40% ของรถยนต์ไฟฟ้า และมีผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด แต่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด”

 

โดยจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเทียมและมีศักยภาพนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้

 

 

นายอดิทัต กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตเซลล์ต้นแบบ ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีศักยภาพที่จะถูกพัฒนามาเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งแบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออนและโซเดียมไอออนนับเป็นแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชและเกลือหินอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน จากการประเมินปริมาณสำรองแร่เบื้องต้นพบว่า ประเทศไทยมีแร่โพแทชมากกว่า 407,000 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งโพแทชที่มีศักยภาพสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

 

อย่างไรก็ตาม กพร. วางแผนการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เช่น ความหนาแน่นพลังงานเชิงมวลและเชิงปริมาตร รวมทั้งศักย์ไฟฟ้าให้ทัดเทียมกับแบตเตอรี่อื่น ซึ่งต้องศึกษาลักษณะเฉพาะและโครงสร้างของวัสดุที่นำมาใช้ทำขั้วแอโนด ขั้วแคโทด และอิเล็กโทรไลต์เชิงลึก เพื่อให้มีความเหมาะสมในขั้นสูงขึ้นต่อไป คาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในอนาคตอันใกล้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง