รีเซต

กทม.เร่ง รพ.สนามทุ่งครุ เปิด 5พ.ค.นี้ รับโควิด 400 เตียง ชี้ช่องจัดการศพติดเชื้อ

กทม.เร่ง รพ.สนามทุ่งครุ เปิด 5พ.ค.นี้ รับโควิด 400 เตียง ชี้ช่องจัดการศพติดเชื้อ
มติชน
27 เมษายน 2564 ( 15:01 )
89

วันนี้ (27 เมษายน 2564) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากเดิมที่มีปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ตกค้างที่รอเข้ารับเข้าสู่ระบบการรักษากว่า 500 ราย ล่าสุด กทม.เพิ่มศักยภาพและเร่งดำเนินการรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลจนเหลือผู้ป่วยตกค้าง 37 ราย และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรับผู้ป่วยรายใหม่เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลให้รวดเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถรับผู้ป่วยได้ไม่น้อยกว่า 250 รายต่อวัน สำหรับผู้ป่วยที่ตกค้าง หรือรอคิวเป็นเวลานาน สามารถประสานแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์เอราวัณ กทม. โทร.1669 สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 สายด่วน 1330 หรือแจ้งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน Line @sabaideebot ได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

 

 

ทั้งนี้ กทม.ได้มีการเพิ่มศักยภาพศูนย์เอราวัณ เพื่อสามารถรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเพิ่มจำนวนคู่สายของสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 เพิ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลากลางวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ให้มากขึ้น ปรับปรุงระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติขณะประชาชนรอสาย รวมถึงการจัดระบบการรับสายใหม่ โดยรับสายพร้อมให้ประชาชนแจ้งเฉพาะชื่อและเบอร์ติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกลับ เพื่อลดระยะเวลาการรอคอยของประชาชน ทั้งนี้ เมื่อโทรติดแล้ว สายของท่านจะเข้าสู่ระบบคิว ขอให้ท่านรอจนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่รับสาย หากวางสาย เมื่อโทรอีกครั้งจะต้องเข้าระบบคิวใหม่อีกครั้ง” ผู้ว่าฯ กทม.

 

 

 

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ยังได้ประสานสำนักเทศกิจ และ 50 สำนักงานเขต จัดรถสำหรับรับ-ส่งผู้ป่วย เขตละ 1 คัน รวม 50 คัน เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงานของรถพยาบาลศูนย์เอราวัณ ซึ่งมีประมาณ 20 คัน รวมรถรับ-ส่งผู้ป่วยทั้งสิ้น 70 คัน ทำให้ที่ผ่านมา สามารถรับส่งผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยตกค้างลดลง

 

 

“สำหรับกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ประชาชนสามารถแจ้งไปยังมูลนิธิต่างๆ ได้โดยตรง หรือสามารถแจ้งผ่านสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อให้ประสานไปยังมูลนิธิต่างๆ ในการเข้ารับศพผู้เสียชีวิตต่อไป” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนการจัดหาเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมนั้น กทม.ได้สำรวจพื้นที่สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาล (รพ.) สนาม ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ อีกหนึ่งแห่ง ซึ่งมีอาคารโรงยิม จำนวน 4 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 400 เตียง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบการปรับปรุงอาคารให้เป็น รพ.สนาม ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับปรุงให้เป็นเตียงสนาม หรือไอซียู (ICU) สนาม หากจะจัดตั้งเป็นไอซียูสนาม อาจจะต้องขอรับบริจาคเครื่องมือจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป

 

 

ด้าน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. กล่าวถึง รพ.สนาม ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ว่า สามารถรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง จัดแยกเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยชาย-หญิง ชัดเจน โดยจะเป็นของผู้ป่วยชาย 2 อาคาร และผู้ป่วยหญิง 2 อาคาร

“ขณะนี้อยู่ปรับปรุงภายในอาคาร งานปูพื้น งานปรับปรุงห้องสำหรับการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ งานปรับปรุงห้องน้ำ และงานวางระบบไฟฟ้าเพื่อติดตั้งพัดลมระบายอากาศ สำหรับงานปรับปรุงบริเวณภายนอกอาคาร อยู่ระหว่างการจัดทำพื้นและขุดวางระบบติดตั้งถังบำบัดสำหรับห้องน้ำ รพ.สนาม งานโครงสร้างที่พักขยะ และปรับปรุงพื้นที่โดยรอบอาคาร การทดสอบระบบกล้องวงจรปิด งานปรับปรุงระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร งานระบบไฟฟ้าของแต่ละเตียงสำหรับผู้ป่วยที่เข้ามาพักรักษาหรือสังเกตอาการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านระบบอื่นๆ อาทิ ระบบสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม ระบบการกำจัดขยะ การจัดการน้ำเสีย ระบบการซักล้างให้ปลอดเชื้อ รวมถึงด้านการจัดการดูแลผู้ป่วย อาทิ ระบบการลงทะเบียน การสื่อสารทำความเข้าใจ และระบบรักษาความปลอดภัย” ปลัด กทม.กล่าว

 

นางศิลปสวย กล่าวว่า สำหรับการนำส่งตัวผู้ป่วยมาที่ รพ.สนาม แห่งนี้ จะใช้หลักการเดียวกับโรงพยาบาลสนาม กทม.แห่งอื่นๆ โดยจะรับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 เขียวหรือติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ โดยมอบหมายรพ.เจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้บริหารจัดการการดูแลผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ซึ่ง กทม.ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากหน่วยงาน โดยเฉพาะบริษัท SCG ที่สนับสนุนเตียงกระดาษและมุ้ง จำนวน 400 ชุด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่จะสนับสนุน หมอน ที่นอน และอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งนี้ กทม. ยายามดำเนินการให้สถานที่แห่งนี้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อเป็นที่รองรับสำหรับกักตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ต้องแยกจากครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อออกไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง