รีเซต

แรงงานนอกระบบทะลุ 21 ล้านคน ส่วนใหญ่มีปัญหาค่าจ้างต่ำ - เสี่ยงภัยสารเคมี

แรงงานนอกระบบทะลุ 21 ล้านคน ส่วนใหญ่มีปัญหาค่าจ้างต่ำ - เสี่ยงภัยสารเคมี
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2567 ( 16:27 )
10

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช.ได้ทำการสำรวจแรงงานนอกระบบเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการทำงาน และปัญหาที่เกิดจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ


แรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งผลการสำรวจในปี 2567 มีดังนี้


สถานการณ์แรงงานนอกระบบปีนี้ พบว่า จำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดอยู่ที่ 40 ล้านคน โดยเป็นแรงงานนอกระบบถึง 21 ล้านคน หรือร้อยละ 52.7 ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่มีเพียง 18.9 ล้านคน หรือร้อยละ 47.3


ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบเพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิง แรงงานนอกระบบกว่าร้อยละ 54.2 หรือ 11.4 ล้าคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมา เป็นภาคบริการ และการค้า ร้อยละ 36.2 และภาคการผลิตร้อยละ 9.6 ในขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคบริการและการค้า


ขณะที่แรงงานนอกระบบร้อยละ 29.9 หรือ 6 ล้าน 3 แสนคน เผชิญปัญหาในการทำงาน โดยเกือบครึ่งร้อยละ 47.7 รายงานว่ามีปัญหาเรื่องค่าตอบแทน ส่วนปัญหาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การทำงานในอิริยาบถซ้ำๆ พบที่ร้อยละ 36.5


ขณะที่ปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น การสัมผัสสารเคมี พบสูงถึงร้อยละ 61.8 ระหว่างปี 2563-67 สัดส่วนแรงงานนอกระบบลดลงในช่วง 3 ปีแรกจากร้อยละ 53.8 ในปี 2563 เหลือร้อยละ 51.0 ในปี 2565 ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 52.7 ในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบต้องมุ่งเน้นการดูแล และส่งเสริมการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมอย่างทั่วถึง เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้มีความมั่นคง และความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น


ภาพจาก: TNN 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง