รีเซต

ประกันสังคม เปิดรับฟังความเห็น เล็งปรับเงินสมทบใหม่ จ่ายเพิ่มสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน

ประกันสังคม เปิดรับฟังความเห็น เล็งปรับเงินสมทบใหม่ จ่ายเพิ่มสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน
TNN ช่อง16
5 ธันวาคม 2567 ( 10:20 )
47

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 38 โดยค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันขณะนั้น มีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 135 บาท


ดังนั้น จึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตามอนุสัญญาฉบับที่ 102 เรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคมขั้นพื้นฐาน เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น การกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม


สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ สปส. วางเป้าหมายที่จะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการปรับเพดานค่าจ้างจากปัจจุบันที่ 15,000 บาท มาเป็นแบบขั้นบันได โดยค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานคำนวณเงินสมทบผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นดังนี้


ปี 2569-2571: เพดานค่าจ้าง 17,500 บาท เงินสมทบสูงสุด 875 บาท/เดือน

ปี 2572-2574: เพดานค่าจ้าง 20,000 บาท เงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท/เดือน

ปี 2575 เป็นต้นไป: เพดานค่าจ้าง 23,000 บาท เงินสมทบสูงสุด 1,150 บาท/เดือน


สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน คือ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ขณะที่ เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ


สำหรับการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าว สามารถทำได้จาก 4 ช่องทาง ดังนี้

1. ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.67

2. เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (www.sso.go.th) ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธ.ค.67

3. มุมรับฟังความคิดเห็น ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา จนถึง 31 ธ.ค.67

4. การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เริ่มตั้งแต่ 16 ต.ค. – 31 ธ.ค.67


ข่าวที่เกี่ยวข้อง