รีเซต

ATP30คว้าอีบัสบ.ย่อยPTT สู่โอกาสลงทุนรถไฟฟ้า

ATP30คว้าอีบัสบ.ย่อยPTT สู่โอกาสลงทุนรถไฟฟ้า
ทันหุ้น
27 กันยายน 2564 ( 06:59 )
156
ATP30คว้าอีบัสบ.ย่อยPTT สู่โอกาสลงทุนรถไฟฟ้า

 

ทันหุ้น – ATP30 เซ็นสัญญารับบริหารจัดการเดินรถโดยสารไฟฟ้า หรืออีบัส ให้กับบริษัทย่อย PTT “อรุณ พลัส” เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี ฟากผู้บริหารชี้เป็นโอกาสเรียนรู้เพื่อลงทุนรถไฟฟ้าในอนาคต พร้อมเผยอยู่ระหว่างประมูลงานเพิ่ม จ่อซื้อรถเสริมทัพอีก 20-30 คัน แย้มการเดินรถในไตรมาส 3/2564 เข้าสู่ภาวะปกติ

 

นายปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการรถรับส่งพนักงานจากแหล่งที่พักอาศัยในเขตชุมชนไปยังโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ โดยเฉพาะรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) เปิดเผยว่า บริษัทได้ตกลงทำสัญญาให้บริการบริหารจัดการการเดินรถโดยสารรถไฟฟ้า (E-Bus) กับบริษัท อรุณ พลัส จำกัด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 เป็นระยะเวลา 44 เดือน

 

** คว้างานบ.ย่อย PTT

 

โดย บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) หรือเดิมชื่อ บริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถือหุ้น 100% สำหรับดำเนินธุรกิจในด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

ทั้งนี้ถึงแม้การให้บริการดังกล่าวมีความแตกต่างจากลักษณะการดำเนินธุรกิจการขนส่งบุคลากรให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทางบริษัทดำเนินการอยู่ แต่บริษัทพิจารณาเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สามารถใช้ทรัพยากร ทักษะและความชำนาญของบริษัทในการให้บริการดังกล่าวได้

 

“เป็นการเข้าไปบริหารจัดการให้กับ บริษัทอรุณ พลัส ซึ่งเราไปช่วยในส่วนของการบริหารการเดินรถ และลูกค้าลงทุนเอง ซึ่งตรงนี้เรามองเป็นโอกาสที่จะเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องรถไฟฟ้า และในอนาคตอาจจะลงทุนเอง ส่วนของรายได้ที่เราเข้าไปบริหารจัดการนั้นเป็นจำนวนไม่มาก มองเป็นเรื่องของโอกาสในการเข้าไปเรียนรู้มากกว่า” นายปิยะ กล่าว

 

สำหรับปัจจุบันบริษัทเริ่มเข้าไปประมูลงานเพิ่มมากขึ้น และอาจจะมีการซื้อรถเพิ่มอีก 20-30 คัน ในช่วงสิ้นปี เพื่อนำไปใช้ในปีหน้า ซึ่งการเดินรถตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 เป็นต้นไป กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

 

** โบรกชี้ครี่งปีหลังสดใส

 

บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS แนะนำ “ซื้อ”  ATP30 ราคาเหมาะสม 1.60 บาท  คาดกำไรปี 2564-65 เพิ่มขึ้น 27% และ 34% ตามลำดับ ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 มีโอกาสเติบโตกว่าช่วงครึ่งปีแรก 2564 จากการได้ลูกค้าใหม่ที่เริ่มบริการตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 และการประกาศล็อกดาวน์และการใช้มาตรการคุมเข้มในการลดความแออัดระหว่างการเดินทาง ทำให้ลูกค้าเดิมมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนรถบริการ โดยมีลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมสั่งเพิ่มจำนวนรถแล้ว 5-6% ของจำนวนรถบริการทั้งหมด

 

ฝ่ายวิจัยประมาณการรายได้ปี 2564 ราว 449 ล้านบาท และคาดกำไรราว 36.6 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 15% และ 27%ตามลำดับ ขณะที่ประมาณการในปี 2565 คาดรายได้ราว 471ล้านบาทเติบโต 5% และคาดกำไรราว 48.9 ล้านบาท เติบโต 34% คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ระหว่างปี 2564-65 เท่ากับ 30% ต่อปี

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง