โจมตีโรงพยาบาล ละเมิดกม.มนุษยธรรม อาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (24 ก.ค.) กรณีทหารกัมพูชาได้ยิงจรวดหลายลำกล้อง BM-21 เข้าใส่โรงพยาบาลพนมดงรักและชุมชนใน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย และต้องอพยพบุคลากรและผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน กลายเป็นประเด็นที่ต้องถูกตรวจสอบอย่างเร่งด่วนในระดับระหว่างประเทศ
เหตุการณ์นี้สามารถมองได้ 2 มุม คือ
1. ความจงใจโจมตีโรงพยาบาล
หากพิสูจน์ได้ว่า การยิงจรวดของทหารกัมพูชาเป็นการกระทำโดยเจตนาโจมตีโรงพยาบาลโดยตรง จะถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law - IHL)
ภายใต้ IHL โรงพยาบาล สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และยานพาหนะพยาบาล ถือเป็น “พื้นที่คุ้มครองพิเศษ” (protected objects) ซึ่ง ห้ามโจมตีโดยเด็ดขาด แม้จะตั้งอยู่ใกล้แนวรบก็ตาม
รัฐที่เป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติม (เช่น ไทยและกัมพูชา) มีพันธกรณีที่ต้อง:
- หลีกเลี่ยงการวางเป้าหมายทางทหารใกล้สถานพยาบาล
- ใช้มาตรการป้องกันผู้บริสุทธิ์จากอันตรายที่เกิดจากการสู้รบ
- และในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าโรงพยาบาลอาจถูกใช้ในทางทหาร ต้องมีการ เตือนล่วงหน้าอย่างเพียงพอ ก่อนการโจมตี
หากไม่มีหลักฐานว่ามีการใช้โรงพยาบาลในทางทหาร และไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ การกระทำครั้งนี้อาจเข้าข่าย อาชญากรรมสงคราม ตามบทบัญญัติในธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute)
2. ความผิดพลาด หรือการยิงโดยไม่ตั้งใจ
อีกมุมหนึ่งคือ อาจเป็นการโจมตีแบบสุ่ม (indiscriminate attack) จากทางฝั่งกัมพูชา ที่เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมทิศทางของระบบจรวด BM-21 ซึ่งเป็นอาวุธที่มีพิสัยไกลและมีความแม่นยำต่ำ หากไม่มีระบบนำวิถีที่ทันสมัย
ในทางกฎหมาย แม้จะ “ไม่ได้จงใจ” โจมตีโรงพยาบาลโดยตรง แต่หากไม่มีความพยายามอย่างเพียงพอในการแยกแยะเป้าหมายทหารออกจากพื้นที่พลเรือน ก็ยังถือว่าเป็น การละเมิดหลักความระมัดระวังในการปฏิบัติการทางทหาร (precautionary principle) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ IHL เช่นกัน
เหตุการณ์เช่นนี้ สะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพของกำลังทหารกัมพูชา และอาจบ่งชี้ถึง การขาดการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ หรือ ขาดเทคโนโลยีช่วยเล็งเป้าและประเมินความเสี่ยงก่อนการยิงจริง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
