รีเซต

จีนเผยแผนพัฒนา 'อุตสาหกรรมก่อสร้าง' รักษ์สิ่งแวดล้อม อัจฉริยะ ปลอดภัยยิ่งขึ้น

จีนเผยแผนพัฒนา 'อุตสาหกรรมก่อสร้าง' รักษ์สิ่งแวดล้อม อัจฉริยะ ปลอดภัยยิ่งขึ้น
Xinhua
28 มกราคม 2565 ( 17:22 )
40

ปักกิ่ง, 28 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ จีนเปิดเผยแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) เพื่อผลักดันภาคอุตสาหกรรมอันเป็นเสาหลักค้ำจุนเศรษฐกิจจีนสู่วิถีทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความเป็นอัจฉริยะ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

เอกสารจากกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองและชนบทจีน ระบุว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะรักษาส่วนแบ่งร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จนถึงปี 2025

ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของจีนจะมุ่งปรับปรุงห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น สร้างขั้นตอนเบื้องต้นสำหรับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงความปลอดภัยและคุณภาพของสิ่งปลูกสร้าง

สิ่งปลูกสร้างสำเร็จรูป ซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในโรงงานบางส่วนหรือทั้งหมดแล้วขนส่งสู่พื้นที่ก่อสร้างเพื่อประกอบ จะครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของการก่อสร้างใหม่ในประเทศ ส่วนขยะจากการก่อสร้างในพื้นที่ก่อสร้างใหม่จะต่ำกว่า 300 ตันต่อพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร

รัฐบาลจีนจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) และคลังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ด้วยการกระตุ้นความร่วมมือระหว่างบริษัทก่อสร้าง บริษัทอินเทอร์เน็ต และสถาบันวิจัยต่างๆ

นอกจากนั้นจีนจะผลักดันการใช้งานหุ่นยนต์ก่อสร้างขนานใหญ่ในงานบางประเภทภายในปี 2025 รวมถึงส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์ผลิตชิ้นส่วน เร่งการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับใช้ในพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสำรวจสภาพแวดล้อมการใช้งานหุ่นยนต์ในการดำเนินงานและการบำรุงรักษา

แผนการฉบับใหม่คาดการณ์ว่าภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีการพัฒนาอย่างครอบคลุมภายในปี 2035 โดยมีการปรับปรุงคุณภาพของสิ่งปลูกสร้างและศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ พร้อมแสดงความสามารถทางการแข่งขันระดับชั้นนำของโลก โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างอัจฉริยะ

อนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของจีนมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน โดยมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 6.9 ของจีดีพี ระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) และมีการจ้างงานประชาชนในปี 2020 สูงถึง 53.66 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง