ภาพหาดูยาก 1 ปี มีครั้ง ปรากฏการณ์ "ปะการังปล่อยไข่"

เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park เผยแพร่การปฏิบัติภารกิจ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดำน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ในคืนวันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้ทำการสำรวจและติดตามปรากฏการณ์ ”ปะการังปล่อยไข่ (Coral Spawning)“ บริเวณหาดเล็ก เกาะเมียง(เกาะสี่) พบปะการังเขากวาง(Acropora sp.) มีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ช่วงเวลาประมาณ 21.10 น. คืนแรม 4 ค่ำ
ซึ่งการปล่อยไข่ของปะการังถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง และเมื่อปะการังเเต่ละโคโลนีปล่อยไข่ จะใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ประมาณ 5-15 นาทีเท่านั้น
ขณะที่เพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของปะการัง ช่วงปะการังออกไข่
โดยปะการังใหม่ เกิดขึ้นได้ จากปะการังที่ยังมีชีวิต ที่โตพอจะสร้างชีวิต จะขยายระบบนิเวศแนวปะการังออกไป ปะการังเป็นสัตว์ที่สามารสืบพันธุ์ได้สองแบบคือ แบบอาศัยเพศตัวผู้-ตัวเมีย และแบบไม่อาศัยเพศ โดยปะการังส่วนใหญ่จะมีเพศผู้และเพศเมียในตัวเดียวกัน มีส่วนน้อยที่แยกเป็นตัวผู้และตัวเมียแบบชัดเจน
ปะการังจะปล่อยไข่และนำเชื้อออกมาใช้วิธีเป็นแพลงตรอนล่องลอยไปตามกระแสน้ำระยะหนึ่ง เมื่อไข่และน้ำเชื้อผสมกันเกิดการปฏิสนธิเติบโตเป็นตัวอ่อนลอยไปในกระแสน้ำ เริ่มเติบโต ตัวอ่อนปะการังเริ่มหาที่ลงเกาะในที่ซึ่งมีพื้นผิวและอุณหภูมิที่เหมาะสม เมื่อลงเกาะได้แล้วก็จะพัฒนาเป็นรูปร่างปะรังชนิดต่าง ๆ ขยายระบบนิเวศปะการังออกไป เกื้อหนุน ชีวิตทุก ๆ ชีวิต ในทะเล
การปล่อยไข่ของปะการังเป็นส่วนสำคัญในวงจรชีวิตของปะการังและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลกของประเทศไทย ซึ่งในภารกิจดังกล่าวเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังได้เผยแพร่วิดีโอบันทึกปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park เพื่อให้ประชาชนได้ชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติใต้ท้องทะเลไทย พร้อมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป