รีเซต

‘จับตาความท้าทายของจีน’ ภายใต้การนำของ ‘สี จิ้นผิง’ กับการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3

‘จับตาความท้าทายของจีน’ ภายใต้การนำของ ‘สี จิ้นผิง’ กับการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3
TNN ช่อง16
11 มีนาคม 2566 ( 18:49 )
87
‘จับตาความท้าทายของจีน’ ภายใต้การนำของ ‘สี จิ้นผิง’ กับการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3

ช่วงเวลาพิสูจน์ ‘สี จิ้นผิง’ นำเศรษฐกิจจีนกลับมาโต


นักวิเคราะห์ระบุกับ The South China Morning Post สื่อในฮ่องกงว่า นี่คือช่วงเวลาสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และจีน ที่จำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโต เพื่อทำให้โลกเชื่อว่า รูปแบบการพัฒนาและการปกครองอันเป็นเอกลักษณ์ของจีนนั้น ทำงานได้ดี ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะความเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ วิกฤตไต้หวัน และความกังวลเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาประชากรสูงวัยของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


อัลเฟรด วู นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่สีต้องแก้ปัญหาเหล่านั้น เพราะเขากระชับอำนาจได้แล้ว และปรับเปลี่ยนทีมงานที่เป็นคนที่เขาไว้ใจทั้งหมด 


วู กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่ชะงักงัน การสร้างเส้นทางใหม่ เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี การเตรียมพร้อมสำหรับความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันที่เพิ่มมากขึ้น และการยกระดับการป้องกันประเทศ จะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนในวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สามของสี จิ้นผิง 


โดยผู้นำจีนเอง ก็เคยเตือนมาแล้วหลายครั้งว่า จีนจะต้องล่องเรือผ่านทะเลที่มีพายุซัดถาโถมในช่วงเวลาไม่กี่ปีจากนี้ ดังนั้น สิ่งที่เขาจะทำคือต้องอุดร่อยรั่วในเรือ ด้วยการยกระดับความมั่นคงภายใน ซึ่งหมายถึงสหายร่วมทีมชั้นแรก ชั้นที่สอง และบรรดากลาสีเรือที่เหลือ จากนั้น ต้องทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจทำงาน เพื่อดันให้เรือแล่นไปข้างหน้า ไปพร้อมกับการหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือหนทางต่าง ๆ ที่จะทำให้เรือแล่นต่อไปอย่างแข็งแรง โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสู่สมรภูมิต่อสู้  


วู มองว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของสี คือ ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ หากประเด็นช่องแคบไต้หวัน มีการรับมือที่ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลต่อเป้าหมายในการฟื้นฟูประเทศให้กลับมารุ่งเรือง ซึ่งเป็น มรดกสำคัญที่เขาต้องการสร้างได้



มุ่งสู่เป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี


ด้านศาตราจารย์ เซี่ย เหมาซ่ง นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยซิงหวา กล่าวว่า ห้าปีจากนี้ สำคัญมากสำหรับสี จิ้นผิงและทีมงานของเขา เพราะพวกเขาจำเป็นต้องหยุดภาวะเศรษฐกิจขาลงของจีนให้ได้ และต้องทำให้มันกลับมาสู่เส้นทางที่เติบโต นอกจากนี้ จีนยังต้องบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีให้ได้ เพื่อที่จะทำให้โลกเชื่อว่า รูปแบบการพัฒนาของจีนนั้นทำได้จริง และในที่สุดก็จะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ได้


เซี่ย กล่าวว่า บางคนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะไม่มีวันตามสหรัฐฯ ได้ทัน เพราะเติบโตช้าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไป เนื่องจากเขาเชื่อว่า จีนจะฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ เพราะในเวลานี้ มณฑลหลัก ๆ ของจีน และผู้นำกระทรวงต่าง ๆ เข้าสู่โหมดพร้อมสร้างการเจริญเติบโตแล้ว และแม้ปีนี้ จีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ปานกลางที่ 5% แต่การตั้งเป้าสร้างงานเพิ่มอีก 12 ล้านตำแหน่งในเขตเมือง บ่งชี้ว่า รัฐบาลจีนมั่นใจว่า อาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากมากกว่า 5% ได้


อย่างไรก็ตาม เติ้ง หยูเวิน อดีตรอบบรรณาธิการของ Study Times หนังสือพิมพ์ของโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์กลาง กล่าวว่า จีนจะไม่สามารถกลับมามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทีขนาดใหญ่แบบที่เคยเป็นในอดีตได้ เพราะรัฐบาลจีนลังเลใจเรื่องการปรับนโยบายด้านการควบคุมจำนวนประชากร จนทำให้เกิดผบกระทบด้านประชากรศาสตร์ที่มาเร็วเกินคาด และยังมีนโยบายเอื้อให้แก่บริษัทที่เป็นของรัฐมากกว่าภาคเอกชน



รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง-จัดตั้งองค์กรใหม่ 


เมื่อวันอังคาร (7 มีนาคม) ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศแผนที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางในด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้อยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์ และมีการจัดตั้งองค์กรที่ใหม่คือ คณะกรรมการกลางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนมีการปรับโครงสร้างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อระดมทรัพยากรไปช่วยอุตสาหกรรมคอขวด เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ เป็นต้น และผู้นำจีนเน้นย้ำข้อเรียกร้อง ให้ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ เนื่องจาก สหรัฐฯ มีมาตรการควบคุมการส่งออกด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อบริษัทและอุตสาหกรรมของจีน


ศาตราจารย์เซี่ย มองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเพราะประธานาธิบดีสีไม่พอใจกับความก้าวหน้าเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเขาต้องการให้กระทรวงต่าง ๆ จัดการอย่างเต็มที่ จริงจัง ไม่ใช่ทำอะไรผิวเผิน


ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีของจีน ยังเผยแผนปฏิรูปสถาบันต่อสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาด้วย ซึ่งนอกจากจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังจะมีการตั้งองค์กรกำกับดูแลกฎระเบียบ และสำนักงานข้อมูลแห่งชาติด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า แผนการปฏิรูปสถาบันของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น จะเป็นสิ่งที่ต้องจับตาหลัก เพราะจะบอกเราได้มากขึ้น เกี่ยวกับสิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเน้นย้ำความสำคัญในสมัยที่สามของเขา

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Xinhua

ข่าวที่เกี่ยวข้อง