รีเซต

ศธ.เปิดไทม์ไลน์ ฉีด 'ไฟเซอร์' ให้เด็ก 12-18 ปี 4.3 ล้านคน ลุ้นเปิดเรียน 1 พ.ย.

ศธ.เปิดไทม์ไลน์ ฉีด 'ไฟเซอร์' ให้เด็ก 12-18 ปี 4.3 ล้านคน ลุ้นเปิดเรียน 1 พ.ย.
ข่าวสด
15 กันยายน 2564 ( 15:51 )
48
ศธ.เปิดไทม์ไลน์ ฉีด 'ไฟเซอร์' ให้เด็ก 12-18 ปี 4.3 ล้านคน ลุ้นเปิดเรียน 1 พ.ย.

ศธ.แจงไทม์ไลน์ ฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 12-18 ปี ให้จังหวัดจัดสรรวัคซีน พร้อมจี้สถานศึกษาเร่งทำความเข้าใจผู้ปกครอง ฉีดเข็มแรก 4 ต.ค.นี้

 

 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 นายสุภัทร จำปาทอง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุม “ชี้แจง ทำความเข้าใจ การฉีดวัคซีน และการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง” ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้แทนโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ และผู้แทนจากกระทรวงต่างๆที่ให้บริการทางการศึกษา ว่า

 

 

 

 

เดือนตุลาคมจะมีวัคซีนเข้าประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไฟเซอร์ 8 ล้านโดส และในไตรมาสที่ 4 ถ้าเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางไว้ วัคซีนไฟเซอร์จะเข้าประเทศไทยอีกรวมแล้วมีประมาณ 30 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สามารถฉีดให้กับเยาวชนอายุ 12 -17 ปี 11 เดือน 29 วัน หรือ 18 ปีบริบรูณ์ได้ โดยเริ่มฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน

 

 

ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า โดยกลุ่มเป้าหมาย คือนักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า การดำเนินการให้ดำเนินการพร้อมกัน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยมีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้ กำหนดให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ผ่านสถานศึกษา เป็นหลัก ทั้งนี้ตนได้ประสานไปยังกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หากสถานศึกษามีพื้นที่จำกัด ขอให้ให้มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการฉีดให้นักเรียนด้วย

 

 

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า แผนการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับนักเรียน นักศึกษา ของแต่ละหน่วยงาน มีดังนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จะบริหารจัดการวัคซีนภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

 

 

พร้อมกับประสานงาน ศธ. ศธจ. หรือหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อเตรียมการดำเนินงานให้วัคซีนนักเรียน สำรวจเป้าหมาย จัดทำแผนจัดสรร และกำหนดช่วงเวลาเข้ารับวัคซีน กำหนดสถานบริการฉีดวัคซีนให้กับแต่ละโรงเรียน โดยประสานผู้บริหารโรงเรียนเพื่อนำนักเรียนเข้ารับวัคซีน พร้อมกับกำกับติดตามรายงานผลการให้ให้บริการในระบบ MoPH IC

 

 

ปลัด ศธ. กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค จะทำหน้าที่จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์และอุปกรณ์การฉีดแผนการฉีดวัคซีนที่ได้จากสาธารสุขจังหวัด ส่วน ศธ. จะกำกับติดตามการดำเนินงานให้วัคซีนนักเรียน ตามนโยบายของประเทศ พร้อมกับรวบรวมข้อมูลนักเรียนจากแต่ละสถานศึกษาและแจ้งแก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

 

 

ด้านสถานศึกษา มีหน้าที่ชี้แจงผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนวันรับวัคซีน จัดส่งคำแนะนำการฉีดวัคซีน และใบยินยอมให้นักเรียนฉีดวัคซีน แจ้งจำนวนนักเรียนที่จะเข้ารับวัคซีน แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผ่านระบบที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กำหนดไว้ และสถานพยาบาล มีหน้าที่จัดระบบให้บริการตามมาตรฐาน ได้แก่ ตรวจสอบใบยินยอม คัดกรอง ฉีดวัคซีน นัดหมาย ออกเอกสารรับรอง เฝ้าระวัง และบันทึกผลการให้บริการในระบบ MoPH IC และมีหน้าที่รับ-จ่ายวัคซีน จัดเก็บวัคซีนและรายงานสถานะคงคลัง

 

 

“ไทม์ไลน์ในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนของ ศธ. มีดังนี้ วันที่ 10-17 ก.ย. สถานศึกษา จัดเตรียมรายชื่อและจำนวนนักเรียน ระหว่างนั้นศธ.และสธ.จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซักซ้อมความเข้าใจการฉีดวัคซีน และการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง

 

 

วันที่ 17-22 ก.ย. สถานศึกษาจัดประชุมทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลกับผู้ปกครองในการฉีดวัคซีนให้เด็ก วันที่ 2-24 ก.ย. สถานศึกษาเชิญผู้ปกครองลงนามแจ้งความประสงค์ (ยินยอม) ให้นักเรียนเข้ารับวัคซีน อย่างไรก็ตาม หากสธ.จัดทำแบบสำรวจและใบยินยอมบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับนักเรียน/นักศึกษา ศธ.จะเร่งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้สถานศึกษานำไปให้ผู้ปกครองกรอกต่อไป” นายสุภัทร กล่าว

 

 

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ในวันที่ 25 ก.ย. สถานศึกษานำส่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์แก่ ผู้อำนวยการ สพท. หรือ อศจ.แล้วนำส่ง ศธจ. วันที่ 26 ก.ย. ศธจ., ผู้อำนวยการ สพท., อศจ., ผู้แทนหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดประชุมสรุปจำนวนและรายชื่อนักเรียน เพื่อนำส่งสาธารณสุขจังหวัด วันที่ 28-30 ก.ย. สาธารณสุขจังหวัดวางแผนการรับวัคซีนและกำหนดการฉีดวัคซีนรายโรงเรียน วันที่ 1 ต.ค. สถานศึกษารับทราบกำหนดการและจัดเตรียมสถานที่ และวันที่ 4 ต.ค. เริ่มการฉีดวัคซีนแก่นักเรียน

 

 

“ในเดือนก.ย.และต.ค. จะมีวัคซีนเพียงพอให้เด็กอายุ 12-18 ปี ที่อยู่ในระบบการศึกษาทั้งในและนอกสังกัด ศธ. ประมาณ 4.3 ล้านคน ดังนั้นวัคซีนที่ได้รับมาเพียงพอสำหรับการฉีดทั้ง 2 เข็มให้กับนักเรียน หากเด็กได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 วันช่วงสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนต.ค. จะสามารถฉีดเข็มที่ 2 ในช่วงสิ้นเดือนต.ค.ได้ ซึ่งจะทำให้การเปิดภาคเรียน On-Site ในวันที่ 1 พ.ย. มีความเป็นไปได้มากขึ้นตามลำดับ” ปลัดสธ. กล่าว

 

 

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนแล้ว ศธ.ประสานของให้ สธ.เร่งฉีดวัคซีนให้ครูครบทุกคน จากข้อมูลขณะนี้พบว่าครูและบุคลากรทางการศึกษา ในรัฐและเอกชน ได้รับวัคซีนไปแล้ว 72% เหลือประมาณ 1.7 แสนคน ที่รอฉีดวัคซีนอยู่ โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. หารือกับกรมควบคุมโรคไปแล้ว โดยขอให้กรมควบคุมโรคจัดสรรการฉีดวัคซีนครูควบคู่กับการฉีดวัคซีนเด็กด้วย

ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน ต้องการให้เปิดเรียน On-Site จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครูสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ยิ่งฉีดได้มากโอกาสที่เด็กจะได้รับความปลอดภัยจะมีมากเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้เด็กต้องได้รับความสมัครใจจากผู้ปกครองด้วย เชื่อว่าถ้าเด็กรุ่นแรกที่ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ในวันที่ 4 ต.ค. และได้รับเข็ม 2 ช่วงสิ้นเดือนต.ค. ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดเรียน On-Site ในวันที่ 1 พ.ย. ได้ และจะสามารถทยอยเปิดเรียนแบบ On-Site เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“เมื่อโรงเรียนเป็นฐานในการฉีดวัคซีน และจังหวัดเป็นผู้ออกแบบวางแผน จัดสรรวัคซีน จึงทำให้หน่วยงานระดับจังหวัดมีความสำคัญอย่างมาก ต้องเชื่อมโยงจัดสรรการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด หากจังหวัดไหนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จังหวัดนั้นจะควบคุมการระบาดได้ง่าย การเรียน On-Site จะเกิดขึ้นเร็วมากขึ้น ดังนั้นขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือทำงานผลักดันให้เด็กได้รับวัคซีนมากที่สุด” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ส่วนเด็กที่ต่ำกว่า 12 ปี จะมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น ขณะนี้ตนทราบว่ามีการทดลองอยู่ เชื่อว่าในอนาคตเด็กกลุ่มนี้จะได้รับการจัดสรรวัคซีนต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ติดตามอาการของเด็กหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนด้วย

ส่วนที่มีคำถามว่าถ้าจะเปิดเรียนแบบ On-Site ครูและนักเรียนต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคนหรือไม่ การฉีดวัคซีนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น และหากโรงเรียนใดยังไม่ถึงคิวฉีดวัคซีน แต่โรงเรียนเหล่านี้สามารถประเมินตนเองได้ เช่น อยู่ในพื้นที่ไม่มีการระบาด นักเรียนมีความปลอดภัย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตให้เปิดเรียน On-Site ได้ เป็นต้น โรงเรียนเหล่านี้ก็สามารถเปิดเรียนในรูปแบบปกติได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง