รีเซต

"ฮายาบูสะ2"นำตัวอย่างจาก ดาวเคราะห์น้อย"ริวกุ" กลับถึงโลกแล้ว

"ฮายาบูสะ2"นำตัวอย่างจาก ดาวเคราะห์น้อย"ริวกุ" กลับถึงโลกแล้ว
มติชน
6 ธันวาคม 2563 ( 13:17 )
76
"ฮายาบูสะ2"นำตัวอย่างจาก ดาวเคราะห์น้อย"ริวกุ" กลับถึงโลกแล้ว

“ฮายาบูสะ2” ยานสำรวจอวกาศขององค์การอวกาศแห่งญี่ปุ่น (แจ๊กซา) เดินทางกลับจากการเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อย “ริวกุ” มาถึงโลกแล้วโดยสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมนี้ และแม้ว่าตัวอย่างที่เก็บกลับมาได้จะมีปริมาณเพียงไม่ถึง 0.1 กรัม แต่ก็ถือว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวอย่างแรกที่ได้จากดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอาจมีข้อมูลที่ช่วยเปิดเผยให้โลกได้รับรู้ถึงที่มาของสิ่งมีชีวิตและการก่อกำเนิดจักรวาลอีกด้วย

 

แคปซูลของยานฮายาบูสะ2 ซึ่งบรรจุฝุ่นตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยริวกุ เดินทางมาถึงโลกและกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ก่อนหน้าเวลาประมาณ 02.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่นเล็กน้อย (ราว 24.30 น.คืนวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย) พุ่งเสียดสีกับบรรยากาศจนคล้ายเป็นดาวตกที่ลุกเป็นไฟก่อนจะตกลงสู่จุดลงสู่พื้นที่กำหนดไว้ในพื้นที่ทะเลทรายทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลียโดยอาศัยร่มชูชีพเพื่อชะลอความเร็ว หลังจากที่แยกตัวออกมาจากยานฮายาบูสะ2 ซึ่งมีขนาดเท่ากับตู้เย็นที่ยังคงโคจรอยู่ในวงโคจรห่างจากพื้นโลก 220,000 กิโลเมตร

 

หลังจากนั้นอีกไม่กี่ชั่้วโมงต่อมา ทางแจ๊กซา แถลงยืนยันว่า ตัวอย่างที่ยานฮายาบูสะ2 เก็บรวบรวมไว้ในแคปซูลและนำกลับโลกมา ถูกค้นพบและเก็บกลับมาแล้ว โดยอาศัยสัญญาณแจ้งบอกตำแหน่งที่ยิงออกมาจากแคปซูลในทันทีที่กระทบพื้นโลกเป็นเครื่องนำทาง ตัวแคปซูลถูกส่งไปให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อดูว่ามีการรั่วไหลของแก๊สภายในหรือไม่ โดยไม่ได้เปิดหรือเจาะเข้าไปดูภายใน เมื่อตรวจสอบเรียบแล้วก็จะจัดส่งไปยังญี่ปุ่นต่อไป

 

ตัวอย่างดังกล่าวนั้นเป็นตัวอย่างที่ยานฮายาบูสะ2 ซึ่งถูกส่งขึ้นจากโลกเมื่อปี 2014 หรือเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา จัดเก็บมาจากดาวเคราะห์น้อยริวกุ ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 300 ล้านกิโลเมตร โดยเก็บตัวอย่างจากทั้งพื้นผิวของริวกุ และวัสดุที่ฝังอยู่ใต้พื้นผิว ซึ่งถูกอุปกรณ์ “อิมแพคเตอร์” หรือกระสุนกระแทกของฮายาบูสะ2 ทำให้ฟุ้งกระจายขึ้นมาให้จัดเก็บ โดยเชื่อกันว่าฝุ่นตัวอย่างที่เก็บกลับมาจากริวกุ ยังคงอยู่ในสภาพเดิมเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อนไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปจากเมื่อครั้งเริ่มกำเนิดจักรวาล

 

นาย มาโคโตะ โยชิกาวา นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการฮายาบูสะ2 ระบุว่า ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อย่างโลก หรือ ดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบไปมากจากเมื่อครั้งก่อกำเนิด เพราะมีปัจจัยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งที่เป็นความร้อน การควบแน่น ซึ่งทำให้องค์ประกอบของวัสดุทั้งหลายทั้งบนพื้นผิวและใต้พื้นผิวเปลี่ยนไปจากเดิมจนเกือบหมดตามเวลาที่ผ่านไป ตรงกันข้ามกับวัสดุบนดาวเคราะห์น้อยที่ไม่มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและยังคงรักษาองค์ประกอบเดิมไว้ครบถ้วน

 

นักวิทยาศาสตร์คาดหมายว่าด้วยข้อมูลดังกล่าวเหล่านั้น นอกจากจะทำให้โลกเข้าใจถึงการก่อเกิดจักรวาลแล้ว ยังช่วยให้สามารถศึกษาและทำความเข้าใจวัสดุชีวภาพที่เป็นองค์ประกอบของริวกุ ซึ่งอาจเป็นที่มาของสรรพชีวิตบนพื้นโลกอีกด้วย

 

ทั้งนี้ตัวอย่างที่เก็บได้จากริวกุ จะถูกจัดสรรให้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และองค์การอวกาศอีกหลายประเทศ นอกจากนั้นจะเก็บส่วนหนึ่งไว้เพื่อตรวจวิเคราะห์ในอนาคต เมื่อเครื่องมือเพื่อการนี้รุดหน้าไปมากอีกส่วนหนึ่งด้วย

 

หลังจัดส่งแคปซูลตัวอย่างกลับโลกแล้ว ฮายาบูสะ2 จะยังคงเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่อีกครั้ง คือการเข้าไปใกล้ดาวเคราะห์น้อยอีก 2 ดวง เพื่อสำรวจจากระยะไกลและถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อย ชื่อ 2001 ซีซี21 (2001 CC21) ในราวเดือนกรกฎาคม 2026 ต่อด้วย 1998 เควาย26 ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 30 เมตร หมุนรอบตัวครบ 1 รอบในเวลาเพียง 10 นาที ในราวเดือนกรกฎาคม 2031 ขณะอยู่ห่างจากโลกราว 300 ล้านกิโลเมตร จึงจะสิ้นสุดภารกิจของฮายาบูสะ2ในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง