รีเซต

ไอเอ็มเอฟ เตือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ตั้งรับธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย

ไอเอ็มเอฟ เตือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ตั้งรับธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย
ข่าวสด
11 มกราคม 2565 ( 20:36 )
30
ไอเอ็มเอฟ เตือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ตั้งรับธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย

ไอเอ็มเอฟเตือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจจำเป็นต้องเตรียมมาตรการเพื่อรับมือ กับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด

 

นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟเตือนด้วยว่า ประเทศที่มีหนี้สินมาก อาจจะต้องขยายเวลาการชำระหนี้ที่ครบกำหนด และอาจต้องเริ่มใช้มาตรการทางการคลังให้เร็วขึ้น

 

 

ในบล็อกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เผยแพร่เมื่อ 10 ม.ค. ระบุว่า ในปีที่แล้ว บรรดานักลงทุนได้คาดว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นชั่วคราว จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไม่มั่นคงและปัญหาการติดขัดของอุปทานที่ค่อย ๆ คลี่คลายอย่างช้า ๆ

 

แต่ตอนนี้ความรู้สึกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ราคาสินค้ากำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 40 ปี และตลาดแรงงานตึงตัวได้เริ่มทำให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง

 

เชื้อกลายพันธุ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นต่อเงินเฟ้อที่มาจากแรงกดดันด้านอุปทาน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่าการเกิดขึ้นของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เฟดตัดสินใจเร่งลดการซื้อทรัพย์สินลง

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือน มี.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้หลายเดือน

 

ผู้เขียนบล็อกนี้ได้แก่ คือ สตีเฟน แดนนิงเกอร์ หัวหน้าแผนกนโยบายจุลภาค ฝ่ายตรวจสอบ นโยบาย และยุทธศาสตร์, เคนเนธ คัง รองผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบ นโยบาย และการดูแล และเอเลน ปัวร์ซอง รองหัวหน้าแผนกนโยบายจุลภาค ฝ่ายตรวจสอบ นโยบาย และยุทธศาสตร์

 

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้อนาคตของประเทศตลาดเกิดใหม่ มีความไม่แน่นอนมากขึ้น นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ก็กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นด้วย หนี้รัฐบาลโดยเฉลี่ยในประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 10% นับตั้งแต่ปี 2019 คาดว่าจะเพิ่มถึงระดับ 64% ของจีดีพีภายในสิ้นปี 2021 แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของประเทศเหล่านี้มีความแข็งแกร่งน้อยกว่าสหรัฐฯ แม้ว่าต้นทุนในการกู้ยืมเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงต่ำสำหรับหลายประเทศ แต่ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในประเทศและเงินทุนจากต่างประเทศที่ไม่เพิ่มขึ้น ได้ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศรวมถึง บราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ได้เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่แล้ว

ความเสี่ยงใหม่ในการฟื้นตัว

นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟระบุในบล็อกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ เงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง เพราะว่า ปัญหาอุปทานจะผ่อนคลายลง และการคลังแบบหดตัวจะขึ้นอยู่กับด้านอุปสงค์ การที่เฟดออกระบุว่า จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ไม่ได้ทำให้มุมมองทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ถ้ามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางตามที่คาดไว้

 

ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่น่าจะรุนแรง ถ้ามีการค่อย ๆ ลดค่าใช้จ่าย, มีการสื่อสารอย่างชัดเจน และรับมือกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อาจจะยังคงอ่อนค่าลง แต่อุปสงค์จากต่างประเทศจะชดเชยผลกระทบที่เกิดจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

 

บล็อกของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า เงินเฟ้อจากค่าจ้าง หรือปัญหาการติดขัดด้านอุปทานที่เกิดขึ้นต่อไป อาจจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ และเงินเฟ้ออาจจะเกิดขึ้นเร็วมากขึ้น การที่เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นให้เร็วขึ้นกว่าเดิมเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ อาจจะสร้างความกังวลต่อตลาดการเงินและทำให้มีการเพิ่มความเข้มงวดทางการเงินเกิดขึ้นทั่วโลก เหตุการณ์เหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับความต้องการและการค้าที่ลดลงของสหรัฐฯ และอาจจะทำให้เกิดกระแสเงินไหลออกและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ได้

 

ผลกระทบของการเพิ่มความเข้มงวดของเฟดในสถานการณ์เช่นนั้น อาจจะส่งผลเสียหายรุนแรงมากกว่าสำหรับประเทศที่อ่อนแอ ในช่วงไม่กี่เดือนนี้ ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งที่มีหนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชนสูง มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง ได้เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในประเทศตัวเองที่เกี่ยวข้องกับดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 

ทางเลือกที่ยากลำบาก

ประเทศตลาดเกิดใหม่บางแห่งได้เริ่มที่จะปรับนโยบายการเงินและกำลังเตรียมการสนับสนุนทางการคลังเพื่อแก้ปัญหาหนี้และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ในการรับมือกับปัญหาเงินทุนที่ตึงตัวมากขึ้น ประเทศตลาดเกิดใหม่ควรจะเลือกวิธีการรับมือที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเสี่ยงของตัวเอง ประเทศที่ใช้นโยบายควบคุมเงินเฟ้อได้ดี อาจจะค่อย ๆ เพิ่มความเข้มงวดนโยบายการเงินมากขึ้น ส่วนประเทศที่มีแรงกดดันด้านเงินมากกว่า หรือสถาบันต่าง ๆ มีความอ่อนแอมากกว่า อาจจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและครอบคลุม แต่ไม่ว่าจะกรณีใด ควรจะมีการปล่อยให้สกุลเงินอ่อนค่าลง และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้น หากเผชิญกับความวุ่นวายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกลางที่มีทุนสำรองเพียงพออาจจะแทรกแซงได้

อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนั้น อาจจะทำให้เกิดทางเลือกที่ยากลำบากสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพราะพวกเขาต้องเลือกระหว่างการช่วยเหลือเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ กับการคุ้มครองราคาและเสถียรภาพจากภายนอก นอกจากนี้ การขยายการช่วยเหลือแก่ธุรกิจต่าง ๆ มากกว่ามาตรการที่มีอยู่ อาจจะกระทบความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ และทำให้สถาบันการเงินมีความอ่อนแอลงในระยะยาว ด้วยการเลื่อนการยอมรับการขาดทุนออกไป การนำมาตรการเหล่านี้มาใช้อาจจะทำให้สภาพการเงินมีความตึงตัวมากขึ้น และส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอ่อนแอลง

 

การจัดการกับทางเลือกเหล่านี้ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจจะต้องใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินนโยบายและลดความเสี่ยงต่าง ๆ ลง สำหรับธนาคารกลาง การเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมแรงกดดันจากเงินเฟ้อ การสื่อสารที่ชัดเจนอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับแผนนโยบาย อาจจะช่วยทำให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพทางราคามากขึ้น ประเทศต่าง ๆ ที่มีหนี้สูง โดยเฉพาะหนี้สกุลเงินต่างประเทศ อาจจะต้องพิจารณาลดความไม่สมดุลลง และป้องกันความเสี่ยงหากทำได้ โดยอาจจะมีการขยายเวลาการชำระหนี้ที่ครบกำหนดออกไป ถึงแม้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ตาม ประเทศที่มีหนี้สินมาก อาจจะต้องมีการปรับตัวทางการคลังเร็วขึ้น

ควรจะมีการทบทวนการช่วยเหลือด้านนโยบายการเงินต่อภาคธุรกิจ และแผนการปรับลดความช่วยเหลือดังกล่าวลงให้เป็นปกติควรจะสอดคล้องกับการคาดการณ์ในอนาคตและเสถียรภาพทางการเงิน สำหรับประเทศที่มีหนี้ภาคเอกชนและหนี้เสียสูงตั้งแต่ช่วงก่อนการระบาดใหญ่ ธนาคารและผู้ปล่อยกู้ที่ไม่ใช่ธนาคารที่อ่อนแอลงอาจเผชิญกับความกังวลด้านความสามารถในการชำระหนี้ ถ้าการเงินประสบกับความยุ่งยาก ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมการแก้ปัญหาไว้

คำมั่นสัญญาและความเชื่อมั่น

นอกเหนือจากมาตรการที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเหล่านี้ นโยบายการคลังอาจช่วยสร้างความแข็งแกร่งต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ การให้คำมั่นสัญญาที่มีความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับนโยบายการคลังระยะกลางจะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเพิ่มพื้นที่ในการช่วยเหลือทางการคลังในช่วงขาลง กลยุทธ์ดังกล่าวอาจจะรวมถึง การประกาศแผนการที่ครอบคลุมในการค่อย ๆ เพิ่มรายได้ภาษี การพัฒนาประสิทธิภาพด้านการใช้จ่าย หรือการปฏิรูปด้านโครงสร้างทางการคลัง อย่างการยกเครื่องด้านเงินช่วยเหลือและเงินบำนาญ

 

แม้ว่าคาดว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า แต่ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงจากการระบาดใหญ่ที่อาจจะกลับมาใหม่ หากเกิดขึ้นตรงกับช่วงที่เฟดเพิ่มความเข้มงวดทางการเงินมากขึ้น ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรจะเตรียมพร้อมรับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ

แบงก์ชาติเตือนเศรษฐกิจอาจโตช้าในครี่งปีแรก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณเตือนภาคเอกชนว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2565 อาจจะโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความไม่แน่นอนหลายประการที่เกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด และการระบาด

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางของไทยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโต 3.4%

 

เมื่อ 10 ม.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส. ฝ่ายนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมกับนักเศรษฐศาสตร์ของภาคเอกชนเมื่อ 10 ม.ค. ว่า มีปัจจัยลบหลายประการต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนที่อาจจะรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด

 

ตัวเลขจากแบงก์ชาติระบุว่า เสถียรภาพทางการเงินของภาคครัวเรือนแล้วธุรกิจยังเปราะบาง เนื่องจากจำนวนหนี้ที่สูงมากของภาคครัวเรือนและบริษัท

 

นายสักกะภพ กล่าวว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เดินทางเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และ ธปท. จะออกมาตรการเฉพาะจุดมาแก้ปัญหานี้

 

ด้านนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายนโยบายการเงิน กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งชั่วคราว ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ยังอยู่ในเป้าที่ตั้งไว้ และ ธปท. พร้อมเข้าจัดการด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง