รีเซต

นาซาพบดาวเคราะห์วงโคจรประหลาดอยู่ในระบบดาวฤกษ์ 3 ดวง

นาซาพบดาวเคราะห์วงโคจรประหลาดอยู่ในระบบดาวฤกษ์ 3 ดวง
ข่าวสด
15 มกราคม 2564 ( 22:49 )
154
นาซาพบดาวเคราะห์วงโคจรประหลาดอยู่ในระบบดาวฤกษ์ 3 ดวง

สำหรับชาวโลกแล้ว การอยู่ในระบบสุริยะที่มีดาวฤกษ์เพียงดวงเดียว อาจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าระบบของดวงดาวอื่น ๆ ในกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้น มักจะมีดาวฤกษ์อยู่ 2 ดวงขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่

 

ล่าสุดองค์การนาซาของสหรัฐฯ ค้นพบดาวเคราะห์ประหลาด KOI-5Ab ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 1,800 ปีแสงในกลุ่มดาวหงส์ โดยดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์ดวงนี้อยู่ในระบบ KOI-5 ที่มีดาวฤกษ์เป็นสมาชิกถึง 3 ดวง แต่วงโคจรของมันกลับเบี่ยงเบนไม่สอดคล้องกับระนาบการโคจรของดาวฤกษ์บางดวงในระบบนั้น

 

CALTECH / R.HURT
แผนภาพแสดงวงโคจรของ KOI-5Ab และดาวฤกษ์ทั้ง 3 ดวงในระบบ KOI-5

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2009 ดาวเคราะห์ดังกล่าวเคยสะดุดตานักวิทยาศาสตร์มาแล้วครั้งหนึ่ง ในฐานะวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แต่ข้อมูลที่รวบรวมได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ในยุคนั้นมีความซับซ้อนมากเกินไป ทำให้ไม่อาจสรุปได้ว่ามันคืออะไรกันแน่

 

หลังจากที่ถูกลืมไปหลายปี ทีมนักดาราศาสตร์ของนาซาซึ่งนำโดยดร. เดวิด ซิอาร์ดิ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกหลายตัวศึกษาระบบ KOI-5 เพิ่มเติม ทำให้ในปี 2014 พวกเขาจึงยืนยันได้ว่า KOI-5 เป็นระบบที่มีดาวฤกษ์ถึง 3 ดวง ได้แก่ KOI-5A, KOI-5B และ KOI-5C ซึ่งต่อมาในปี 2018 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ตรวจจับได้อีกครั้งว่า มีวัตถุอวกาศที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์โคจรวนรอบ KOI-5A อยู่

 

CALTECH / R.HURT
ภาพจำลองขณะดาวเคราะห์ KOI-5Ab (จุดดำ) เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ KOI-5A

 

ผลการศึกษาล่าสุดของดร. ซิอาร์ดิและคณะ ซึ่งนำเสนอในที่ประชุมของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 237 ระบุว่าดาวเคราะห์ KOI-5Ab เป็นดาวเคราะห์ก๊าซที่มีมวลราวครึ่งหนึ่งของดาวเสาร์ และมีขนาดใหญ่กว่าโลก 7 เท่า โคจรวนรอบดาวฤกษ์ KOI-5A ในระยะประชิด โดยมีคาบการโคจรเพียงรอบละ 5 วัน

 

อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์ KOI-5Ab มีระนาบการโคจรไม่สอดคล้องกับดาวฤกษ์ KOI-5B ซึ่งเป็นดาวคู่แฝดของ KOI-5A ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะปกติดวงดาวที่ก่อตัวขึ้นมาจากจานหมุนของฝุ่นและก๊าซ (protoplanetary disc)ในระบบเดียวกัน มักจะมีระนาบการโคจรที่สอดคล้องกัน

 

ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ KOI-5B มีอิทธิพลรบกวนวงโคจรของดาวเคราะห์ KOI-5Ab โดยได้ผลักให้กระเด็นออกจากระนาบปกติไปในระหว่างที่ดาวเคราะห์ดังกล่าวกำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพบกรณีที่คล้ายกันกับจานก่อกำเนิดดวงดาว GW Orionis ในกลุ่มดาวนายพรานมาแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง