เปลวไฟแรกบนดาวโลกเกิดขึ้นเมื่อไหร่และใครเป็นต้นเหตุ ?
โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวเท่าที่มนุษย์รู้จักว่าสามารถเกิดไฟไหม้ได้ แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าที่เปลวไฟเปลวแรกจะปรากฏขึ้นมาในโลกของเรา มันก็เกิดขึ้นหลังจากที่โลกเกิดขึ้นมาแล้วหลายพันล้านปี คำถามคือเปลวไฟแรกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และปัจจัยอะไรที่ทำให้มันเกิดขึ้นมาได้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับไฟกันก่อน หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินว่าโลกยุคแรกของเราเต็มไปด้วยภูเขาไฟทำให้โลกปกคลุมไปด้วยความร้อน แล้วทำไมจึงบอกว่าโลกยุคแรกของเราไม่มีไฟ นั่นเพราะว่าภูเขาไฟไม่ใช่ไฟที่แท้จริง เพราะกระบวนการเกิดของมันต่างกัน คือ ไฟเกิดจากปฏิกริยาเคมีที่เรียกว่า การเผาไหม้ ต้องใช้เชื้อเพลิง ออกซิเจน และความร้อนเพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยา แต่การปะทุของภูเขาไฟเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธรณีวิทยาของแมกมาที่ถูกบีบให้ปะทุขึ้นมาบนผิวโลก มีความร้อน เกิดก๊าซได้ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีของการเผาไหม้
โลกยุคแรกปกคลุมด้วยความร้อนจากภูเขาไฟดังกล่าวนี้เอง แต่จุดเริ่มต้นที่ค่อย ๆ ทำให้สามารถเกิดไฟขึ้นมาได้บนดาวโลกของเรา คือ เมื่อประมาณ 2,400 ล้านปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ช่วงนั้นชั้นบรรยากาศของโลกน่าจะเป็นหมอกหนาทึบ ซึ่งหมอกนี้เป็นก๊าซมีเทน จากนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นมา คือ การออกซิเดชันครั้งใหญ่ หรือ The Great Oxidation Event ซึ่งเกิดจากการที่ออกซิเจนเพิ่มขึ้นมาบนโลก
โดยสาเหตุเกิดมาจากสิ่งมีชีวิตในยุคนั้นอย่างไซยาโนแบคทีเรีย เริ่มมีวิวัฒนาการจนสามารถเริ่มผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เกิดก๊าซออกซิเจน และถูกปล่อยออกมาจนโมเลกุลออกซิเจนเริ่มสะสมบนชั้นบรรยากาศโลก เมื่อออกซิเจนทำปฏิกิริยากับมีเทน มันจะทำให้ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำออกมา
ทั้งนี้ก๊าซมีเทน ส่งผลกระทบต่อเรือนกระจกโลกมากกว่าก๊าซคาร์บอนออกไซด์ คือมีเทนสามารถกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นเมื่อมีเทนน้อยลง และกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อนภายในโลกจึงถูกปลดปล่อยออกไปมากกว่าทำให้อุณหภูมิบนโลกลดลง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ดาวโลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคน้ำแข็งครั้งแรก หรือที่เรียกว่ายุคน้ำแข็งฮูโรเนียนที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2,400 ล้านปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ยุคแรกที่ออกซิเจนเริ่มสะสมบนชั้นบรรยากาศโลก มันไม่ได้มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอที่จะทำให้เกิดไฟได้ โดยงานวิจัยของทิโมธีโจนส์ (Timothy Jones) และวิลเลียม คาโลนเนอร์ (William Chaloner) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1991 กล่าวว่าหากมีออกซิเจนน้อยกว่าร้อยละ 13 พืชจะไม่ติดไฟ แต่ถ้ามีออกซิเจนมากกว่าร้อยละ 35 ก็จะสามารถติดไฟได้ง่าย
จนกระทั่งประมาณ 470 ล้านปีที่แล้ว พืชบกชนิดแรก ๆ ของโลกอย่างมอสส์ และลิเวอร์เวิร์ตส์ สามารถที่จะผลิตออกซิเจนได้มากขึ้น ในที่สุดปริมาณออกซิเจนบนโลกเราก็เพียงพอที่จะทำให้เปลวไฟเปลวแรกเกิดขึ้นมาได้ โดยหลักฐานฟอสซิลที่ถูกไฟไหม้ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ คือ พืชที่ถูกไหม้จนกลายเป็นถ่าน มีอายุประมาณ 420 ล้านปี
และนี่ก็คือเรื่องราวการเกิดขึ้นของเปลวไฟเปลวแรกของโลก ซึ่งนับจากที่มันเกิดขึ้นมา มันก็กลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังอย่างมาก และถูกใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล IFLScience, ScienceDirect, Time