รีเซต

คณะทำงานฯ 4 ชาติลุ่มน้ำโขง ตีตกร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค เขื่อนสานะคาม

คณะทำงานฯ 4 ชาติลุ่มน้ำโขง ตีตกร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค เขื่อนสานะคาม
มติชน
18 มกราคม 2564 ( 15:43 )
51

คณะทำงานฯ 4 ชาติลุ่มน้ำโขง ตีตกร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค เขื่อนสานะคาม หลังข้อมูลผลกระทบท้ายน้ำไม่ชัดเจน

 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคคณะกรรมการร่วม (เจซีดับบลิวจี) ของสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ครั้งที่ 2 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามของลาว (พีเอ็นพีซีเอ) มีประเด็นหารือที่สำคัญ คือ การพิจารณาร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค (ทีอาร์อาร์) เขื่อนสานะคาม ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำกลับไปทบทวนในรายละเอียดให้รอบด้านอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ยังมีข้อสรุปที่ได้ยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมที่ให้ประเทศสมาชิกเกิดความมั่นใจต่อโครงการดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่ส่งกระทบกับประเทศไทยโดยตรง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ซึ่งไทยได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังประเทศผู้พัฒนาโครงการและสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซีเอส) ในหลายประเด็นสำคัญโดยเฉพาะข้อมูลที่ชัดเจนด้านอุทกวิทยาและระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน เนื่องจากจุดที่ตั้งของเขื่อนที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งอยู่บริเวณโค้งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะร่องน้ำลึกที่อาจส่งผลกระทบต่อเขตแดนไทย-ลาว ดังนั้น จำเป็นต้องมีความชัดเจน และกรณีการปล่อยน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากหรือการดำเนินการอื่นๆ ของเขื่อนสานะคามเมื่อระดับน้ำผันผวนอาจส่งผลกระทบต่อท้ายน้ำ

 

แม้ในรายงานทางเทคนิคจะมีการสร้างแบบจำลองทางกายภาพมานำเสนอ แต่มีการประเมินทางต้นน้ำจากตัวเขื่อน 2.5 กิโลเมตร และท้ายน้ำ 1.7 กิโลเมตร โดยไม่ครอบคลุมพื้นที่ท้ายน้ำที่อาจได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน ยังต้องนำข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนปากลาย และเขื่อนไซยะบุรีมาพิจารณาด้วย เนื่องจากมีผลต่อการระบายน้ำเช่นกันที่จะทำให้การวิเคราะห์ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรอบด้านให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการกระจายตัวของตะกอน ส่วนด้านเศรษฐกิจสังคมที่จะกระทบประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างรอบคอบ รวมถึงมาตรการในการลด หลีกเลี่ยง และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

 

“แม้จะเชิญผู้แทน 8 จังหวัดแม่น้ำโขงเข้าร่วมเวทีผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาคเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังจะต้องจัดเวทีให้ข้อมูลประชาชนที่อาจได้อาจรับผลกระทบ เมื่อมีข้อมูลเพียงพอที่สามารถชี้แจงกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงมาตรการเชิงป้องกันและบรรเทาผลกระทบข้ามแดนที่อาจเกิดขึ้นต่อลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ในร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค ให้ประเทศสมาชิกพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น กระบวนการสร้างการรับรู้ข้อมูลของข้อเสนอการสร้างเขื่อนสานะคามของประเทศไทยต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน” นายสมเกียรติ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง