สทนช. เปิดผลงานแก้น้ำรัฐบาล ยันใช้งบคุ้มค่า เน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง-บริหารจัดการ
เมื่อวันที่ 30 กันยายน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงกรณีนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา รวมถึงได้การดำเนินการแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่น ทุ่มเท และให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งส่งผลให้สถิติความเสียหายภัยจากน้ำลดลงอย่างชัดเจน เห็นได้จากปี 2562 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นปีที่แล้งรุนแรงเป็นลำดับที่ 2 รองจากปี 2558 แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี 2562 เพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้าน น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2563/64 มีการประกาศภัยแล้งเพียง 2 จังหวัด เท่านั้น
นอกจากนี้ การแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ยังทำให้ความเสียหายจากอุทกภัยลดน้อยลง สามารถป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงาน มีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท โดยในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับน้ำในทุกมิติ จึงนับเป็นครั้งแรกของการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งเป็นการร่วมกันดำเนินงานจากทุกหน่วยงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และมีผลงานที่เป็นรูปธรรม ดังนี้ เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 3,347 แห่ง จาก 5,472 แห่ง สระน้ำในไร่นา 190.59 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 63% พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118.43 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 225 แห่ง และปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 181 แห่ง
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อวางแผนแก้ไขเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) 66 พื้นที่ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำซ้ำซากและมีผลกระทบในวงกว้าง โดยมีแนวคิดในการใช้ปัญหาเป็นที่ตั้ง และแก้ปัญหาด้วยหลายวิธีการ แทนการใช้โครงการเป็นที่ตั้ง โดยมีแผนหลักในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขับเคลื่อนแล้วจำนวน 133 โครงการ จาก 526 โครงการ อาทิ 1.แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีความก้าวหน้า 32% เช่น คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา การปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก การเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานเดิม คาดว่าจะขับเคลื่อนได้ทั้งหมดภายในปี 2570 ซึ่งจะทำให้พื้นที่น้ำท่วมใน 17 จังหวัดลดลง จาก 9.31 ล้านไร่ คงเหลือ 3.05 ล้านไร่
2.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขับเคลื่อนแล้ว 21 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 114.20 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม 17 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 ได้น้ำเพิ่ม 556.80 ล้าน ลบ.ม. 3.การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงราชนก จ.พิษณุโลก บึงสีไฟ จ.พิจิตร หนองหาร จ.สกลนคร ฯลฯ หากแล้วเสร็จจะสามารถ มีพื้นที่หน่วงน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุนรวมมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. 4.การพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน ได้แก่ อ่างฯลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างฯลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ เป็นต้น พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญแล้ว จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 291,762 ล้านบาท เพิ่มความจุ 628.92 ล้าน ลบ.ม. ได้รับประโยชน์ 1.4 ล้านไร่ 262,386 ครัวเรือน บำบัดน้ำเสีย 1.27 ล้าน ลบ.ม./วัน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว รัฐบาลยังได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาในเชิงบริหารจัดการควบคู่ไปด้วย อาทิ พัฒนารูปแบบการจัดการน้ำโดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ รับน้ำนอง เพื่อบรรเทาความเสียหาย โดยพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง จำนวน 1.15 ล้านไร่ สามารถหน่วงน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงระดับนโยบาย ยกระดับการมีส่วนร่วมด้านน้ำ ได้แก่ องค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ การจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งเป็นการพัฒนากลไกการกำกับดูแล อำนวยการ สั่งการจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำในรูปแบบวันแมป ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน National Thai Water ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนในทุกรูปแบบ อย่างเต็มศักยภาพ โดยทำงานร่วมกับแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน รวมถึงกำหนดมาตรการจัดการน้ำทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะแผนการจัดการคุณภาพน้ำระดับลุ่มน้ำ และการจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ
“รัฐบาลได้ดำเนินงานอย่างเข้มข้นในการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ได้ให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้มีการตรวจสอบข้อมูล ความซ้ำซ้อนของแผนงานด้านน้ำ ได้กว่า 60,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชัน Thai Water Plan เพื่อใช้ประกอบการจัดทำงบประมาณด้านน้ำด้วย ซึ่งจากผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำโดยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบกับในอดีตจะพบว่าตัวเลขสถิติความเสียหายทั้งจากภัยแล้งและอุทกภัยลดลงอย่างชัดเจน” นายสมเกียรติ กล่าว