สทนช.แจงรัฐทำงานเชิงรุก จัดการน้ำโขงทั้งฤดูฝน-แล้ง ยึดผลประโยชน์ประเทศสูงสุด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เปิดเผยว่า จากกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.เชียงราย พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงการไม่รักษาสุมดลย์อำนาจระหว่างประเทศในการบริหารจัดการน้ำโขงนั้น สทนช.ขอชี้แจงว่า การบริหารจัดการน้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยมีประเทศต้นน้ำ คือ ประเทศจีน ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมอย่างมาก เป็นผลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล ได้ร่วมผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับน้ำและด้านอุทกวิทยาตลอดทั้งปีทุกเวทีการเจรจา
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่งผลให้ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน กับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ (JWG) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง สาขาทรัพยากรน้ำ ได้มีการลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดทั้งปีมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา จากเดิมเริ่มต้นเพียงช่วงฤดูฝนเท่านั้น
กรณีที่เขื่อนจิ่นหงลดการะบายนั้น สทนช.ได้รับข้อมูลอุทกวิทยาจากสถานียุนจิ่นหง พบว่า มีระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เร่งติดต่อประสานงานผ่านผู้ประสานงานของรัฐบาลจีน และเขื่อนจิ่นหงทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยเป็นช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี ทำให้เกิดข่องว่างในการแจ้งยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 โดยระดับน้ำที่เชียงแสนลดลงวันที่ 2-5 มกราคม 2564 ประมาณ 1 เมตร ส่งผลต่อการแจ้งเตือนหน่วยงานระดับพื้นที่อย่างเป็นทางการมีความล่าช้าไปบ้าง
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สทนช.จะเร่งปรับปรุงระบบการได้ข้อมูลยืนยันที่เป็นทางการให้รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงในเร็วๆ นี้ สถานีเชียงกกที่อยู่พรมแดนของลาว-พม่า-จีน ก็เป็นอีกสถานีที่สำคัญทำให้ไทยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลระดับน้ำได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ระดับน้ำโขงที่ในระยะนี้ซึ่งไม่มีฝนเพิ่มเติมในพื้นที่รวมถึงลำน้ำสาขา คาดว่า ระดับน้ำจะมีค่าคงที่ไม่ต่ำกว่าในปัจจุบันซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับตลิ่ง ประมาณ 10.61 เมตร
“รัฐบาลให้ความสำคัญและเน้นย้ำถึงการปกป้องผลกระทบกับประชาชนริมน้ำโขง และพยายามในทุกกรอบเวทีการเจรจาไม่ว่าจะกรอบแม่โขง-ล้านช้าง หรือ กรอบเวทีลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ ฉันท์มิตรประเทศ และกลไกที่สามารถนำมาขับเคลื่อนได้ รวมถึง สทนช.ได้พยายามเพิ่มเวทีสร้างการมีส่วนร่วมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารแม่น้ำโขงในประเทศ เพื่อให้การจัดการน้ำโขงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบันด้วยเช่นกัน” นายสมเกียรติ กล่าว