รีเซต

นายกฯสั่งเร่งแจก ATK ให้คนกลุ่มเสี่ยง-ขอให้แจ้งผลตรวจเข้าระบบทุกครั้ง

นายกฯสั่งเร่งแจก ATK ให้คนกลุ่มเสี่ยง-ขอให้แจ้งผลตรวจเข้าระบบทุกครั้ง
TNN ช่อง16
22 กันยายน 2564 ( 12:43 )
49

ภาพโดย TNN ONLINE

วันนี้ (22ก.ย.64) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการกระจายชุดตรวจเร็ว ATK 8.5 ชุดของ สปสช. สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อเร่งการตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีแนวทางการกระจายชุดตรวจในกรุงเทพ 2.4 ล้านชุด ปริมณฑลและต่างจังหวัด 5.6 ล้านชุด และอีก 5 แสนชุด จะจัดสำรองไว้ที่ สปสช. และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจกจ่ายในการลงพื้นที่และร้านขายยาในพื้นที่กรุงเทพ และปริทณฑล ที่ยังตกหล่น ซึ่งขณะนี้ องค์การเภสัช (อภ.) ได้ทยอยส่งมอบให้กับ สปสช. แล้ว 7,068,600 ชุด กระจายทั่วประเทศกว่า 6.7 ล้านชุด และผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังแล้ว 95,727 ชุด

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงประกอบด้วย 

1. กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค (ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน) 

2. กลุ่มผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ (มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจหอบลำบาก) 

3. ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อโควิด 

4. ผู้ที่ทำงานประสานงานในชุมชน 

โดยประชาชนสามารถขอรับชุดตรวจได้ที่ อสม./อสส. หรือหน่วยบริการในพื้นที่ใกล้บ้าน ที่มีป้ายสีเหลืองว่าจุดแจกชุดตรวจโควิด ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 

แอปพลิเคชันเป๋าตังตอบคำถามเพื่อประเมินความเสี่ยง 

พื้นที่ชุมชนแออัด ตลาด จะมี อสส. และ อสม. ไปประสานและแจกชุดตรวจ

สำหรับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษได้เน้นการกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ และสถานประกอบการที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขจะแจกในกลุ่มตลาดจำนวน 410,000 ชุด กลุ่มร้านเสริมสวย 20,000 ชุดกลุ่มร้านนวด สปา 56,000 ชุดกลุ่มครู อาจารย์ 300,000 ชุดกลุ่มชุมชน 420,000 ชุดและกลุ่มขนส่งสาธารณะ 440,000 ชุด รวมทั้งแจกผ่านช่องทางหน่วยบริการ ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ในแอปเป๋าตัง

นายธนกร กล่าวอีกว่า ในส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับชุดตรวจเร็ว ATK แล้ว แนะนำว่าต้องทดสอบทันทีหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมงและขอให้แจ้งผลตรวจเข้าระบบทุกครั้ง หากพบผลบวกหรือติดเชื้อจะสามารถเข้าระบบการรักษาได้ทันทีทั้งการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) การดูแลโดยชุมชน (Community Isolation) และสถานพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง สถานการณ์ดีขึ้น แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังห่วงใยพี่น้องประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชน ผู้ประกอบการ ต้องคงมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เน้นการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมดูแลเคียงข้างประชาชน เพื่อเราทุกคนจะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวนี้ไปได้ด้วยกัน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง