รีเซต

ประท้วงในอเมริกา : สำรวจรูปปั้นวีรบุรุษในยุโรป-สหรัฐฯ กับประวัติค้าทาส-เหยียดผิว

ประท้วงในอเมริกา : สำรวจรูปปั้นวีรบุรุษในยุโรป-สหรัฐฯ กับประวัติค้าทาส-เหยียดผิว
บีบีซี ไทย
11 มิถุนายน 2563 ( 07:12 )
595
1

EPA
สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม ถูกจดจำมากที่สุดจากการเข้าไปยึดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นอาณานิคมด้วยความโหดเหี้ยม

ผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในอังกฤษโค่นรูปปั้นผู้ค้าทาส เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ก่อนจะนำไปทิ้งลงน้ำบริเวณท่าเรือในเมืองบริสตอล

นี่คือการส่งสารจากผู้ชุมนุมอย่างชัดเจนว่าพวกเขาต้องการอะไร

 

เชื่อกันว่าในศตวรรษที่ 17 เรือของโคสตันขนส่งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก 80,000 คนจากแอฟริกาไปอเมริกา อย่างไรก็ดี เรื่องราวของเขาได้รับการจดจำเป็นเกียรติประวัติมาหลายศตวรรษในบ้านเกิดของเขา ซึ่งได้รับผลประโยชน์มากมายจากความร่ำรวยของเขา

 

การประท้วงที่ขยายวงกว้างไปรอบโลกต่างมุ่งความสนใจไปยังประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม หรือการใช้ทาส ในเมืองนั้น ๆ และก็มีรูปปั้นมากมายที่เป็นสัญลักษณ์ของอดีตช่วงนั้น

 

เฮนรี ดันดาส

PA Media
เขาเป็นผู้เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติซึ่งทำให้การเตรียมยกเลิกทาสทันทีในปี 1972 กลายเป็นกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อนุสาวรีย์นี้ในเมืองเอดินบะระ เมืองหลวงสกอตแลนด์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เฮนรี ดันดาส นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในสก็อตแลนด์ในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19

 

ผู้ประท้วงพ่นคำว่า "George Floyd"(จอร์จ ฟลอยด์) และ "BLM" (Black Lives Matter) ที่อนุสาวรีย์เนื่องจากเขาเป็นผู้เสนอแก้ไขร่างกฎหมายซึ่งทำให้การเตรียมยกเลิกทาสทันทีในปี 1792 กลายเป็นกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มีการใช้ทาสต่อไปอีก 15 ปี

 

BBC

 

ขณะนี้ มีคนหลายพันคนลงชื่อเรียกร้องให้ทางการรื้อถอนอนุสาวรีย์นี้ ส่วนทางการบอกว่าจะเพิ่มป้ายอธิบายลงรายละเอียดมากขึ้นถึงความเชื่อมโยงของเมืองเอดินบะระกับการค้าทาส

 

เลโอโปลด์ ที่ 2

ชาวเบลเยียมกำลังเรียกร้องให้ทางการรื้อถอนรูปปั้นสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม กษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ตามเมืองต่าง ๆ

ที่เมืองเกนต์ ผู้ประท้วงทาฐานรูปปั้นด้วยสีแดง พร้อมกับเอาผ้าพันหัวและเขียนคำว่า "ผมหายใจไม่ออก" ส่วนที่เมืองแอนต์เวิร์ป รูปปั้นของกษัตริย์องค์นี้ถูกจุดไฟเผา ส่วนที่เมืองหลวง กรุงบรัสเซลส์ ผู้ประท้วงไปเขียนคำว่า "ผู้สังหาร" ไว้

 

สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 ทรงปกครองเบลเยียมจากปี 1865 ถึง 1909 และถูกจดจำมากที่สุดจากการเข้าไปยึดสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นอาณานิคมด้วยความโหดเหี้ยม

 

ระหว่างปี 1885 ถึง 1908 กษัตริย์ประเทศยุโรปที่เล็กที่สุดประเทศหนึ่งองค์นี้ทรงยึดคองโก ซึ่งรู้จักกันในตอนนั้นว่า "รัฐอิสระคองโก" พระองค์ทรงเปลี่ยนประเทศให้เป็นเหมือนค่ายกักกันขนาดใหญ่ ทำรายได้จากการค้ายาง แรงงานที่ขัดขืนจะถูกยิง และว่ากันว่าทหารของพระองค์ได้รับคำสั่งให้ตัดเก็บมือของคนที่ถูกยิงมาด้วย

 

โดยรวมแล้ว คาดว่ามีชาวคองโกเสียชีวิตภายใต้การกดขี่รุนแรงนี้ราว 10 ล้านคน และพระองค์ก็ยังทรงนำชาวคองโกบางส่วนมาให้อยู่ในสวนสัตว์มนุษย์ในเบลเยียมด้วย

พระองค์ถูกบีบบังคับให้ละอำนาจจากรัฐอิสระคองโกในปี 1908 แต่ต้องรอถึงปี 1960 กว่าคองโกจะได้รับเอกราชจากเบลเยียม

 

โรเบิร์ต อี ลี

AFP

รัฐเวอร์จิเนียร์ของสหรัฐฯ เตรียมรื้อถอนรูปปั้น นายพลโรเบิร์ต อี ลี ผู้บัญชาการฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา ซึ่งถูกทำลายระหว่างการประท้วงเพื่อจอร์จ ฟลอยด์

ราล์ฟ นอร์ธัม ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียร์ กล่าวถึงการตัดสินใจรื้อถอนอนุสาวรีย์หนัก 12 ตัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1890 ว่า "เราจะไม่พร่ำสอนประวัติศาสตร์ฉบับเท็จอีกต่อไปแล้ว"

"รูปปั้นนี้มีอยู่มานานแล้ว แต่มันเป็นเรื่องผิดตั้งแต่ตอนนั้น ตอนนี้ก็ผิด เราจะรื้อถอนมัน"

 

หลายคนในสหรัฐฯ มองว่านายพลโรเบิร์ต อี ลี เป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์การใช้ทาสและกดขี่ทางเชื้อชาติของประเทศ เขาเป็นนายพลผู้สนับสนุนการค้าทาสในยุคสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1861 ถึง 1865

 

นอกจากนี้เขายังแต่งงานและกลายเป็นสมาชิกครอบครัวที่ใช้ทาสซึ่งร่ำรวยที่สุดครอบครัวหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย เอกสารทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า เขาสนับสนุนการเฆี่ยนตีทาสที่พยายามจะหลบหนี และว่ากันว่า เขาจับสมาชิกครอบครัวทาสแยกออกจากกันด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีรูปปั้นบุคคลฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาอีกมากมายที่ถูกทำลายขณะเกิดการประท้วง แต่ก็มีบางฝ่ายที่มองว่าควรจะคงรูปปั้นเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นมุดหมายของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของรัฐทางใต้ของสหรัฐฯ

 

วินสตัน เชอร์ชิลล์

PA Media

รูปปั้น วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถูกผู้ประท้วงใช้สเปรย์พ่นเขียนว่าเขาเป็นผู้เหยียดเชื้อชาติ

เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่พาสหราชอาณาจักรชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 และก็ได้รับการลงคะแนนในแบบสำรวจความคิดโดยบีบีซีเมื่อปี 2002 ว่าเป็นชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

 

อย่างไรก็ดี คนหลายคน รวมถึงนักประวัติศาสตร์อย่าง ริชาร์ด ทอย ผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ The Churchill Myths ซึ่งกำลังจะตีพิมพ์ บอกว่า "ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเชอร์ชิลล์เป็นคนเหยียดเชื้อชาติแน่นอน เขามองว่าคนขาวเป็นผู้ที่เหนือกว่า เขาพูดเช่นนั้นอย่างชัดเจน"

 

ทอยบอกว่า ต้องยอมรับว่าการเติบโตในยุควิกตอเรียนมีผลกระทบต่อความคิดของเชอร์ชิลล์ อย่างไรก็ดี ก็ไม่ได้ถึงขั้นกำหนดความคิดเขาเรื่องเชื้อชาติเลยซะทีเดียวเพราะความคิดเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ในแต่ละช่วงเวลา

 

ในรายงานคณะกรรมการไต่สวนความไม่สงบเรียบร้อยในปาเลสไตน์ (Palestine Royal Commission) ในปี 1937 เชอร์ชิลล์ ระบุว่า เขาไม่คิดว่าการเข้าไปยึดดินแดนของชนพื้นเมืองในอเมริกาหรือออสเตรเลียเป็นเรื่องผิด

 

"ผมไม่ยอมรับว่าเป็นการทำผิดต่อคนพวกนี้ ที่เชื้อชาติที่แข็งแรงและสูงส่งกว่า และฉลาดทางโลกมากกว่า เดินทางไปยึดที่ของพวกเขา"

นอกจากนี้ เชอร์ชิลล์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เวลาเขาพูดถึงชาวมุสลิมและชาวยิว รวมถึงการกระทำ หรือการเลือกไม่ลงมือปฏิบัติ ต่อวิกฤตขาดแคลนอาหารในรัฐเบงกอลของบริติชอินเดียในปี 1943 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสองล้านคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง