รีเซต

เมื่อรายรับลด...จัดการเงินยังไง

เมื่อรายรับลด...จัดการเงินยังไง
TrueID
30 พฤศจิกายน 2564 ( 12:45 )
80
เมื่อรายรับลด...จัดการเงินยังไง

ในสถานการณ์ปัจจุบันหลายองค์กรก็ต้องคุ้มเข้มเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น และอาจทำให้หลายหลายคนต้องมีรายรับที่ลดลงไปด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการเงิน มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนการวางแผนชีวิต อนาคตการเงินไว้ล่วงหน้าเลย ปัญหาหนี้ที่คงเดิม แต่รายได้ลดลงเกิดขึ้นกับหลายคนได้ จะอยู่รอดในช่วงเวลาแบบนี้ได้ยังไง วันนี้ TrueID มีวิธีมาให้แล้ว

 

รู้จักประเภทของรายจ่ายกันก่อน

ก่อนจะมาดูกันว่า จะปรับแผนรายจ่ายอย่างไร ผมขออธิบายถึงประเภทของรายจ่ายก่อน

โดยหลักๆ จะมี 3 ประเภท ได้แก่

  • รายจ่ายคงที่ คือ รายจ่ายที่เป็นภาระผูกพัน ต้องจ่ายเป็นประจำ และปรับลดได้ยาก เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่างวดรถ เงินส่งเสียครอบครัว ที่จะจ่ายทุกเดือน หรือ ค่าเบี้ยประกัน ค่าส่วนกลางคอนโด ค่าเทอมลูก ที่อาจจะมาปีละ 1 -2 ครั้ง
  • รายจ่ายผันแปร คือ รายจ่ายที่ผันแปรไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตในเดือนนั้นๆ ซึ่งพอจะสามารถปรับได้บ้าง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าสันทนาการ ฯลฯ
  • รายจ่ายเพื่อการออม คือ รายจ่ายที่เป็นการสำรองเงินไว้สำหรับเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต เช่น ออมเพื่อท่องเที่ยวรายปี เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ๆ และ เพื่อการเกษียณอายุ เป็นต้น

 

วิธีที่อาจช่วยจัดการเรื่องเงินให้ผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้

 

1. ทำ "แผนใช้เงิน" เพื่อจัดสรรเงินที่มี

เมื่อรายได้ลดลง เราก็ต้องจัดสรรเงินให้พอใช้ โดยการทำ “แผนใช้เงิน” อาจจะต้องเขียนหรือทำบันทึกออกมาอย่างจริงจัง เพื่อให้รู้ว่า จริง ๆ แล้วมีรายรับและรายจ่ายมากแค่ไหน ซึ่งแผนการใช้เงินที่ดีจะต้องมีรายรับมากกว่าหรือเท่ากับรายจ่าย และแบ่งรายจ่ายออกเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจน
 
เมื่อเราทำแผนใช้เงินออกมาแล้ว เราก็ต้องใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ หากใช้ส่วนไหนเกิน ก็ให้ลดรายจ่ายส่วนอื่น เพื่อไม่ให้รายจ่ายมากเกินรายรับ ถ้ามีเวลา ก็ลองทำแผนใช้เงินล่วงหน้าสัก 3 เดือนเพื่อรองรับเหตุการณ์ในอนาคต
 

2. ปรับตัวและตัดใจจากสิ่งที่ไม่จำเป็น

พอเราทำแผนใช้เงินแล้วพบว่า รายจ่ายมากกว่ารายรับ ก็ถึงเวลาที่ต้องตัดใจ แต่รายจ่ายของเรามีมากมาย ควรจะตัดใจจากรายจ่ายไหนดี จะให้ตัดทั้งหมดก็คงไม่ไหว รายจ่ายของเราแบ่งออกได้ 2 แบบ
 
แบบที่ 1: รายจ่ายจำเป็น เป็นรายจ่ายที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่จ่ายอาจกระทบถึงสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต เช่น อาหาร ยารักษาโรค รายจ่ายประเภทนี้ตัดไม่ได้แต่หาทางเลือกเพื่อลดรายจ่ายได้ เช่น แทนที่จะกินอาหารมื้อหรู ก็เลือกกินอาหารราคาธรรมดาที่มีสารอาหารครบ
 
แบบที่ 2: รายจ่ายไม่จำเป็น เป็นรายจ่ายที่ไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตหากไม่จ่าย แต่อาจทำให้มีความสุขน้อยลง รายจ่ายประเภทนี้สามารถทยอยลดหรือตัดออกได้ เช่น ลดค่ากาแฟ เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกซื้อหวย
 
หลังจากนั้น เราก็นำ “แผนใช้เงิน” มาดูว่ามีรายจ่ายไหนไม่จำเป็น หรือรายจ่ายจำเป็นไหนที่สูงเกินไป แล้วเลือก ลด หรือตัดออก 
แต่ความจำเป็นหรือไม่จำเป็นของคนเราอาจไม่เหมือนกัน รายจ่ายบางอย่างอาจจำเป็นต่อคนบางคน แต่อาจไม่จำเป็นต่ออีกคน เช่น รถยนต์อาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่หรือตัวแทนขายสินค้า แต่อาจไม่จำเป็นสำหรับคนที่ทำงานใกล้บ้าน คนที่จะตัดสินได้ดีที่สุดว่า อะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งไม่จำเป็น ก็คือตัวเราเอง
 

3. จัดการภาระหนี้

ถึงแม้รายได้จะลดลง แต่หนี้ก็ยังคงต้องจ่าย ถ้าทำแผนใช้เงินแล้วมีเงินพอจ่าย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเจอว่าเงินไม่พอจ่ายหนี้ ให้ทำตามขั้นตอนดังนี้
 
1) จดรายการหนี้ทั้งหมดที่มีเพื่อให้รู้ว่า เรามีหนี้อะไรบ้าง อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ กำหนดจ่ายเมื่อไหร่
 
2) เช็กรายการหนี้ทั้งหมดว่า มีหนี้ที่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐหรือไม่ หากใช่ ให้ติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอเข้าร่วมมาตรการ
 
3) หากได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการแล้ว แต่เงินที่มี ก็ยังไม่พอจ่ายหนี้ หรือไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ ให้ทำหนังสือไปยังสำนักงานใหญ่ของเจ้าหนี้เพื่อขอความอนุเคราะห์ลดจำนวนเงินผ่อนต่อเดือนหรือขยายระยะเวลาการผ่อน โดยระบุจำนวนเงินที่สามารถผ่อนได้หรือระยะเวลาที่ต้องการขยายให้ชัดเจน พร้อมทั้งระบุความจำเป็นที่ต้องขอความอนุเคราะห์ เพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณา เมื่อสถาบันการเงินพิจารณาและมีหนังสือตอบกลับ ต้องอ่านเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย และจำนวนที่ต้องผ่อนชำระ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนลงนามตกลง ทั้งนี้ การติดต่อสถาบันการเงินอาจใช้เวลา จึงควรวางแผนติดต่อสถาบันการเงินแต่เนิ่น ๆ หากติดต่อแล้ว ไม่มีความคืบหน้าหรือติดต่อไม่ได้ สามารถใช้ช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” เพื่อติดต่อสถาบันการเงินได้อีกทางหนึ่ง
 

4. หาทางหารายได้เพิ่ม

เมื่อรายได้ลด ใครต่อใครก็มักจะบอกให้หารายได้เพิ่ม แต่การหารายได้เพิ่ม อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะหารายได้เพิ่มยังไง อาจจะลองขายของที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าของใช้ส่วนที่เกินความจำเป็น หรือของสะสมที่พอจะแลกเปลี่ยนเป็นเงิน มาใช้จ่ายหรือลดภาระหนี้ได้ และหากลำบากจริง ๆ ก็อาจต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ พอเริ่มมีรายได้ ค่อยเก็บเงินซื้อใหม่
 

5. ตรวจสอบสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ

ถ้ายังหารายได้เพิ่มไม่ได้ ก็ลองเช็กสวัสดิการที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม หรือมาตรการพิเศษที่รัฐออกมาช่วยเหลือในช่วงวิกฤต เพื่อดูว่าเราเข้าเกณฑ์ตามมาตรการนั้นหรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ ให้ติดต่อหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อขอรับการช่วยเหลือ
 
 
จะเห็นว่าการปรับลดค่าใช้จ่ายทุกประเภท ล้วนต้องใช้ความพยายามแทบทั้งสิ้น แต่ด้วยสถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ การบริหารรายรับรายจ่ายให้มีกระแสเงินสดคงเหลือไว้กับตัวมากที่สุด ก็เป็นสิ่งที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ “จำเป็นต้องทำ” และกระทั่งสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบนั้น ผมเองก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ “ควรทำ” เช่นกัน เพราะถึงแม้สถานการณ์ของประเทศไทย ในแง่ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะดูดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติในเร็ววัน สถานการณ์ “ผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะคงอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ จนอาจจะถึงขั้นกลายเป็น “ความปกติใหม่ (New Normal)” ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอีกนานเลยก็เป็นได้ การไม่ประมาทไว้ก่อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
 
 
ข้อมูล : ศบง
ภาพถ่ายโดย stevepb จาก Pixnio

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง