รีเซต

ถล่มชอร์ตฉุดตลาด เช็กหุ้นติดโผโดนกด

ถล่มชอร์ตฉุดตลาด เช็กหุ้นติดโผโดนกด
ทันหุ้น
5 ตุลาคม 2563 ( 08:00 )
73
ถล่มชอร์ตฉุดตลาด เช็กหุ้นติดโผโดนกด

ทันหุ้น – สู้โควิด – ขาชอร์ตเริงร่าตามนัด หลังปลดล็อกชอร์ตเซล พบถล่มชอร์ตแหลกวันแรก 2 พันล้านบาท สะท้อนหุ้นไทยแพง โบรกชี้เป็นการจำกัดขาขึ้น เหตุเข้าสู่ช่วงผลประกอบการ เช็กหุ้นติดโผโดนกดมาครบทั้ง แบงก์ พลังงาน ท่องเที่ยว STEC  TRUE โดนหนัก เจาะหุ้นแบงก์ถึงปี 65 ก็ยังไม่ปกติ


ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างหนักตามคาด หลังจากมาตรการชอร์ตเซลกลับสู่ปกติตั้งแต่ 1ตุลาคม โดยนักลงทุนสามารถชอร์ตหุ้นในฝั่ง BID ได้ (Zero plus tick) ขณะที่ราคา ซิลลิ่ง และ ฟลอร์ ได้กลับไป +/- 30%แม้ว่าวันแรก 1 ตุลาคมหุ้นจะบวก แต่กลับมีการเปิดชอร์ตกันอย่างหนักกว่า 2 พันล้านบาท และเป็นเหตุให้ดัชนีวันที่ 2 ตุลาคมร่วงต่ำลงมาปิดที่ 1237.54 จุด ลดลง 10.05 จุด หรือ 0.81%


นายณัฐชาติ เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากการชอร์ตเซลที่เกิดขึ้นสูง 2พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยจะถูกจำกัดขาขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าตลาดหุ้นไทยขณะนี้ดูแพง ดังนั้นจึงมีผู้ที่รอชอร์ตหุ้นแพงๆ อย่างไรก็ตามยังมองตัวเลขการชอร์ตเซลคงจะไม่ขึ้นไปถึงระดับ 5,000ล้านบาท เหมือนช่วงก่อนใช้มาตรการเดือนมีนาคม เนื่องจากขณะนี้ราคาได้ลดลงมาจาก 1,500จุด เหลือ 1240 จุดแล้ว


ขณะเดียวกันมองว่าหุ้นที่ถูกชอร์ตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกตัว แต่จะเกิดขึ้นกับหุ้นที่มีดาวไซด์เป็นต่ออัพไซด์ ส่วนหุ้นที่ราคาต่ำมามากๆแล้วเชื่อว่าจะไม่ดึงดูดการชอร์ต


ทั้งในการชอร์ตหุ้นนั้นหากดูมูลค่าจะพบว่าเป็นหุ้นขนาดใหญ่ แต่ในการประเมินว่าหุ้นที่ถูกชอร์ตแล้วมีอิมพคจะต้องนำมาเทียบกับค่าเฉลี่ย 1เดือน


@STEC-ท่องเที่ยว-TRUE โดนกด


จากข้อมูลวันที่ 1 ตุลาคมพบว่า มีหลักทรัพย์ที่ถูกชอร์ตจำนวน 169หลักทรัพย์ มูลค่า 2.1 พันล้านบาท โดยกลุ่มที่ถูกชอร์ตมีทั้งกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่มท่องเที่ยว โดยในการประเมินหุ้นถูกชอร์ตให้มีประสิทธิภาพนักลงทุนควรพิจารณา %สัดส่วนการขายชอร์ตเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขาย ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 1 เดือนแล้วมีส่วนต่างที่สูงขึ้นมาก แสดงว่ามีน้ำหนักมาก


สำหรับ 10 หุ้นอันดับแรก ที่มี %สัดส่วนการขายชอร์ตเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขาย โดยอิงเงื่อนไขต้องมีมูลค่าการชอร์ตเกิน 1 ล้านบาท ประกอบด้วย STEC มีสัดส่วนการชอร์ต 32.25% ปริมาณการชอร์ตสูงกว่าขณะที่ค่าเฉลี่ย 1เดือนถึง 3,950% CENTEL มีสัดส่วนการชอร์ต 29.63% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1,387% TRUE มีสัดส่วนการชอร์ต 29.01% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1,842% TMB มีสัดส่วนการชอร์ต 21.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3,049% TOA มีสัดส่วนการชอร์ต 18.92% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 18,830% MAJOR มีสัดส่วนการชอร์ต 18.88% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1,481% CKP มีสัดส่วนการชอร์ต 17.54% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1,155% BTS มีสัดส่วนการชอร์ต 17.32% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5,673% BPP มีสัดส่วนการชอร์ต 15.02% สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1,270% MINT มีสัดส่วนการชอร์ต 13.41% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 438%


นายณัฐชาติ ระบุด้วยว่า หุ้นที่โดนขายชอร์ตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มท่องเที่ยว เนื่องจากราคาหุ้นยังคงสูงอยู่ และเป็นการคาดหวังอนาคตพอสมควร ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงประกาศผลประกอบการจึงยังไม่แนะนำให้เข้าซื้อ


@แบงก์-พลังงาน เป้าถูกชอร์ต


ด้านนายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย เปิดเผยว่า ปริมาณการชอร์ตหุ้นวันแรกที่สูงถึง 2พันล้านบาท หากดูเชิงมูลค่าการชอร์ตจะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นธนาคาร และ พลังงาน เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงพรีวิวผลประกอบการของกลุ่ม แบงก์ และ พลังงาน โดยในส่วนแบงก์นั้นผลประกอบการไตรมาส 3-4 ยังไม่ดีจากสภาพเศรษฐกิจและแนวโน้ม NPL ส่วนหุ้นพลังงานนั้นกำลังเผชิญกับปัจจัยลบด้านน้ำมันดิบจากประเมินที่ โอเปก 3 ประเทศที่อาจจะมีปัญหาด้านการลดกำลังการผลิต และยังมีปัจจัยกดดันด้านประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ไบเดนมีคะแนนนำ เนื่องจาก ไบเดนมีความชัดเจนในด้านนโยบายพลังงานสีเขียว ทั้งนี้แนะนำนักลงทุนหลีดเลี่ยงการซื้อหุ้นเนื่องจากสตอรี่ความคาดหวังในอนาคต แต่ต้องเน้นหุ้นที่ผลประกอบการออกมาดี และมีโอกาสกำไรทำสถิติสูงสุด เช่น JMT STA STGT PTG


@แบงก์ยังไม่ปกติถึงปี65


ด้านบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS คาดว่า แนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส3/2563 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 50% YoY และ 10% QoQ รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองสูงอย่างต่อเนื่อง NIM ที่ลดลง สินเชื่อที่ชะลอตัวลง และ non-NII ที่ลดลง ทังนี้คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในไตรมาส3/2563 เพื่อรองรับ NPL ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงในเดือนต.ค. และคาดว่าจะมีเพียง BBL KBANK และ KTB ที่จะตั้งสำรองลดลงมาก จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาส3/2563


สำหรับกำไรของกลุ่มธนาคารทั้งปี 2563 จะลดลงเฉลี่ย 35%หลักๆ เป็นผลมาจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อซึมซับความเสี่ยงที่คุณภาพสินทรัพย์จะปรับตัวแย่ลงสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19เราคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัวในปี 2564โดยเกิดจากการตั้งสำรองสูงอย่างต่อเนื่อง โดย credit cost จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 เพื่อซึมซับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19อย่างเต็มที่

สำหรับปี 2565เราคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะเติบโตปานกลางที่ 16%คาดว่าธนาคารจะลดการตั้งสำรองลง แต่จะยังไม่กลับคืนสู่ระดับปกติ เนื่องจากธนาคารจะต้องการเพิ่ม LLR coverage กำไรปี 2565จะถูกฉุดรั้งโดย NIM ที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จะปรับขึ้น 23 bps กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46%เราคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 (ปี 2562) ในปี 2566 หลักๆ ได้รับปัจจัยกระตุ้นจากการตั้งสำรองลดลงอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว


บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ระบุด้วยว่า หุ้นกลุ่มธนาคารซื้อขายที่ valuation ถูก ที่ PBV ประมาณ 0.5-0.6 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับ ROE ที่คาดว่าจะทำจุดต่ำสุดที่ประมาณ 5-6% ในปี 2563เราแนะนำให้รอจนกว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จะมีความชัดเจนมากขึ้นใน 1Q64เรายังคงเลือก BBL เป็น top pick ของกลุ่มธนาคาร ราคาเหมาะสม 133 บาท เนื่องจากมีสัดส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19ต่ำที่สุด และมี LLR coverage สูงที่สุด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง