กยศ.เผยยอดกู้นักศึกษาสูงสุดรอบ 28 ปี ชี้เหตุจากเศรษฐกิจชะลอตัว
กยศ.เผยยอดกู้นักศึกษาสูงสุดรอบ 28 ปี ขณะที่ ยอดชำระหนี้ต่ำกว่าปีก่อน ชี้เหตุหลักจากเศรษฐกิจชะลอตัว และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของกยศ.อยู่ในระดับต่ำ
#ทันหุ้น นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)เปิดเผยว่า จำนวนนักศึกษาที่ขอกู้ยืมเงินจากกยศ. เพิ่มสูงขึ้น เป็น 8.37 แสนคนในปีการศึกษา 2567 ถือว่าสูงสุดในประวัติการณ์ของ กยศ. อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ
เขากล่าวว่า กยศ.ได้ขยายกรอบวงเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาปี 2567จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 4.83 หมื่นล้านบาท เป็น 5.12 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับนักศึกษาที่ต้องการเงินกู้จาก กยศ. ซึ่งจากเดิมมีจำนวนนักศึกษาที่ต้องการเงินกู้ จำนวน 7.69 แสนราย เพิ่มขึ้นเป็น 8.37 แสนราย
ขณะที่ ปีการศึกษา 2566 กยศ.ให้เงินกู้ราว 4.57 หมื่นล้านบาท สำหรับนักศึกษาจำนวน 7.51 แสนราย
เขากล่าวว่า จำนวนนักศึกษาที่ขอกู้ในปีการศึกษาดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งกยศ. เมื่อ 28 ปีที่แล้ว สาเหตุน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการกู้จาก กยศ.ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1 % เป็นการช่วยลดภาระให้แก่ผู้ปกครอง
สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ กยศ.ภายใต้กฎหมายใหม่ของ กยศ.ที่ลดเบี้ยปรับผิดนัดการชำระหนี้ลงเหลือ 0.5 % จากเดิมที่ 7.5 % และปลดภาระของบุคคลที่เป็นผู้ค้ำประกัน และปรับลำดับการตัดหนี้ใหม่ จากเดิมที่ต้องตัดภาระดอกเบี้ยค้างชำระก่อน แล้วจึงมาตัดดอกเบี้ยในงวดนั้นๆ ที่เหลือจึงมาตัดเงินต้น เป็น ให้ตัดเงินต้นก่อน เหลือเท่าไหร่จึงมาตัดดอกเบี้ยในงวดนั้นๆ และสุดท้ายถ้ายังมีเงินเหลือจึงมาตัดภาระดอกเบี้ยค้างชำระ
เขากล่าวว่า หลังจากพ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน มีลูกหนี้กยศ.ได้มายื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กำหมายใหม่ แล้ว 1.68 แสนราย จากลูกหนี้ผิดนัดทั้งหมด 2 ล้านราย โดยในจำนวนลูกหนี้เหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่เมื่อใช้วิธีการลำดับการชำระหนี้ใหม่ ปรากฏว่ามีเงินที่ลูกหนี้จ่ายเกินมาและต้องนำส่งคืนลูกหนี้ คิดเป็นวงเงิน2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. จะขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ไปอีก 15 ปี ,ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที และให้ยกเบี้ยปรับที่ที่ตั้งพักไว้ทั้งหมดเมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
สำหรับในปี 2567 กยศ.ได้รับเงินชำระหนี้ 2.33 หมื่นล้านบาทลดลงจากปีที่แล้ว 5 % สาเหตุน่าจะมาจากการที่ลูกหนี้ของ กยศ.ซึ่งมีภาระหนี้หลายแห่ง จึงเหลือชำระหนี้ก้อนที่มีภาระดอกเบี้ยสูงก่อน ขณะที่ดอกเบี้ย กยศ.ซึ่งคิดเพียง 1 % จึงเก็บไว้ชำระหลังสุด
เขายังกล่าวอีกว่า ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ กยศ.ให้กู้แก่ผู้ที่ต้องการกู้เพื่อ Re-Skill และ Up-Skill ซึ่งตามกฎหมายใหม่ สามารถให้กู้เพื่อ Up- Skill หรือ Re-Skill ในสถานศึกษาของเอกชนได้ เช่น การเรียนหลักสูตรระยะสั้น ในโรงเรียนการบริบาลผู้สูงอายุ หรือหลักสูตรระยะสั้น การโรงแรม ซึ่งสามารถทำงานบนเรือสำราญได้ ซึ่งทักษะวิชาชีพเหล่านี้ยังมีความต้องการอีกมาก
ในปีงบประมาณ 2568 กยศ.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้ยื่นของบประมาณ เพื่อให้กู้เพื่อการศึกษาจำนวนกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ในที่สุดถูกตัดทอนลงเหลือเพียง 3 พันล้านบาท แต่ กยศ.ยังมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการให้นักศึกษาที่ต้องการเงินกู้ทุกคนได้รับเงินกู้ ,ทั้งนี้นักศึกษาต่อรายเฉลี่ยกู้คนละ1.2 แสนบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กยศ. ณ 31 กรกฎาคมนี้ กยศ.มีจำนวนผู้กู้ยืมตั้งแต่เริ่มให้กู้จนถึงปัจจุบัน 6.86 ล้านราย, ในจำนวนนี้ 53% หรือ 3.63 ล้านราย อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ , 18 % หรือ 1.24 ล้านราย อยู่ในช่วงปลอดการชำระหนี้ (ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาหรือยังไม่มีงานทำ) , 28 % หรือ 1.91 ล้านรายชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว และ 1 % หรือ 7.34 หมื่นราย เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ