เที่ยวทะเลฤดูฝน เตือนระวังภัย "แมงกะพรุนพิษ"
มีข้อมูลเตือนจากอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ให้ระวังอันตรายจากแมงกะพรุนที่มักจะพบบ่อยครั้งในช่วงมรสุม โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือ แมงกะพรุนหัวขวด บริเวณเกาะพีพี และเกาะไม้ไผ่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางทะเลไทยตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลังมักจะพบแพงกะพรุนชนิดนี้บ่อยขึ้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อาจเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของไฟโตแพลงก์ตอนอาหารของแมงกะพรุน
โดย แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือ แมงกะพรุนหัวขวด มีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรี ยาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษป้องกันตัวและจับเหยื่อกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหนวด
อาการเมื่อสัมผัสพิษแมงกะพรุนหัวขวด
ส่วนใหญ่คนที่สัมผัสพิษจะมีอาการคัน และปวดแสบปวดร้อนในเบื้องต้น ลักษณะอาการบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัสจะเป็น ผื่นหรือปื้นแดง ปวดแสบปวดร้อน
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ใช้น้ำส้มสายชูกลั่นที่ใช้บริโภคราดต่อเนื่อง 30 วินาที บริเวณที่ถูกพิษ ซึ่งน้ำส้มสายชูมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการยิงเข็มพิษของแมงกะพรุน
- ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรือ อื่นๆ ล้าง เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น
- ห้ามใช้มือสัมผัสแผล ห้ามขูด-ถู หรือนำวัสดุไปขยี้หรือทา บริเวณที่ได้รับพิษ เพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้น
- หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
- หากผู้ได้รับพิษแมงกะพรุน หมดสติ ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร ให้รีบทำ CPR พร้อมโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที
โดยชนิดของแมงกะพรุนในโลก มีมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ และมากกว่า 100 สายพันธุ์ที่มีพิษต่อมนุษย์ บางชนิดก็มีพิษร้ายแรง เช่น แมงกะพรุนไฟ โดยแมงกะพรุนไฟสายพันธุ์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือ แมงกะพรุนหัวขวด
ส่วนแมงกะพรุนชนิดที่มีอันตราย ซึ่งมีรายงานว่าทำให้เสียชีวิตได้บ่อยกว่าแมงกะพรุนชนิดอื่น คือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งไทยเราสามารถพบได้เกือบทุกจังหวัดชายทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน
ข้อมูล : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพ : ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.กระบี่ , ทีมกราฟิก TNN