รีเซต

วันนี้วันอะไร วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน

วันนี้วันอะไร วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2564 ( 17:45 )
209

วันพระบิดาแห่งฝนหลวงตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริ โครงการฝนหลวง ซึ่งเป็นวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้ในยามน้ำแล้ง


โครงการฝนหลวง เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของประชาชนที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค รวมไปถึงการใช้ในทางเกษตรกรรม เนื่องมาจากสภาวะแห้งแล้ง ซึ่งพบได้บ่อยในฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยความแห้งแล้งนี้เกิดจากการคลาดเคลื่อนของฤดูตามธรรมชาติ เช่น ฤดูฝนล่าช้าหรือหมดไวกว่าปกติ


พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงศึกษาสภาพอากาศลักษณะต่างๆ รวมไปถึงภูมิประเทศของไทย ที่อยู่ในภูมิภาคเขตร้อน ทำให้อยู่ในอิทธิพลของมรสุมทวีปเอเชีย โดยเฉพาะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพราะปลูกประจำปีของประเทศไทย พระองค์จึงดำริคิดว่าจะสามารถดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝนตกได้


จากนั้น ทรงถ่ายทอดและพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมทำการศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และให้วิจัยและค้นคว้าหาลู่ทางที่จะทำให้แนวพระราชดำริมีความเป็นไปได้ตั้งแต่ พ.ศ.2498 จนสามารถทำการค้นคว้าทดลองบนท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 ซึ่งประสบความสำเร็จตามข้อสมมติฐานที่ทรงคาดหมายไว้ 


ที่มาภาพ : AFP


ต่อมาจึงได้มีการดำเนินการในรูปโครงการค้นคว้าทดลองทำฝนเทียมในปี พ.ศ. 2513 โดยให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการมิ ใช่เพียงทรงก่อให้เกิดแนวพระราชดำริขึ้นมาเท่านั้น แต่ทรงร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีที่ทรงค้นพบไปประยุกต์ในการปฏิบัติการฝนหลวงหวังผลด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดตลอดมา รวมทั้งทรงบัญชาการปฏิบัติการสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรงบัญชาการคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงจนเกินกำลังของคณะปฏิบัติการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด   


ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงจึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนทรงสามารถสรุปขั้นตอนกรรมวิธีการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน คือ “ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี” พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผลตั้งแต่ พ.ศ.2516


จากนั้นใน พ.ศ.2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงในปี พ.ศ.2541 ต่อเนื่องมาถึงขั้นเกิดภาวะวิกฤติต่อพื้นที่เกษตรกรรม ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อน สภาพสิ่งแวดล้อม และการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 ซึ่งในการปฏิบัติการนี้ นอกจากจะทรงฟื้นฟู ทบทวนเทคนิค และเทคโนโลยีฝนหลวงที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในอดีตแล้ว ยังพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคเพิ่มเติมรวมทั้งทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตี โดยทรงนำผลการทดสอบเทคนิคการโจมตีเมฆเย็นที่สัมฤทธิผลอย่างน่าพอใจ มารวมกับเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH” อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีฝนหลวงล่าสุด และกลายเป็น“ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน


ที่มาข้อมูล : กรมฝนหลวงและการบินเกษตร www.royalrain.go.th

ที่มาภาพ : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง