รีเซต

เช็กเลย! แนวทางรักษาโควิดแบบ "ผู้ป่วยนอก vs Home Isolation" ต่างกันอย่างไร

เช็กเลย! แนวทางรักษาโควิดแบบ "ผู้ป่วยนอก vs Home Isolation" ต่างกันอย่างไร
TNN ช่อง16
9 มีนาคม 2565 ( 12:26 )
84
เช็กเลย! แนวทางรักษาโควิดแบบ "ผู้ป่วยนอก vs Home Isolation" ต่างกันอย่างไร

วันนี้( 9 มี.ค.65) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันพบจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่ระบาดได้รวดเร็วและติดเชื้อได้ง่าย  

ขณะที่แนวโน้มของโรคโควิด-19 กำลังจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) โดยปัจจุบันได้มีการปรับรูปแบบการรักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" คือ เจอการติดเชื้อโควิด 19 แจกยาตามอาการ และผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ กับแบบผู้ป่วยนอกร่วมกับการแยกกักตัวที่บ้าน (Outpatient with Self Isolation) ซึ่งเป็นการดูแลรักษาทางเลือกที่ผู้ติดเชื้อสมัครใจประเมินอาการแล้วรับยาที่คลินิกคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI) โดยจะพิจารณาให้ยาตามอาการ เนื่องจากแต่ละคนมีอาการไม่เท่ากัน บางคนไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการรายงานจำนวนผู้ป่วยคลินิก Covid Self Isolation ตั้งแต่วันที่ 1-7 มี.ค. 65 พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้วทั้งสิ้น 3,297 ราย ทั้งนี้ให้ผู้ที่ตรวจพบว่าตนติดเชื้อโควิด-19 นำหลักฐานยืนยันผลตรวจ ATK พร้อมวันที่ตรวจ และนำบัตรประชาชนมามาติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง หรือโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง เพื่อลงทะเบียนเข้ารับบริการ 

โดยผู้ป่วยจะต้องทำการสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการมากขึ้น เช่น เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง ผู้ใหญ่มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% หรือโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น หรือแพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยง ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยัง Hospitel โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักต่อไป 

นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาโดยติดต่อ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 14 สายด่วนศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 กด 2 หรือสายด่วน EOC 50 เขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

สำหรับการคัดกรองเข้ารับบริการโควิค-19 แบบผู้ป่วยนอก ได้แก่ 

1. หากมีอาการของระบบทางเดินหายใจ มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้ประเมินอาการด้วยตนเอง 

2. ถ้าเข้าข่ายสงสัย ตรวจ ATK ด้วยตนเอง 

3. ผลเป็นบวกติดต่อสายด่วน โทร. 1330 หรือ ARI/PUI Clinic ประเมินภาวะเสี่ยงและความพร้อม กรณีไม่มีภาวะเสี่ยง และมีความพร้อม 

สามารถรับบริการแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านได้ 

5. กรณีมีภาวะเสี่ยง และอาการไม่มาก สามารถเข้าระบบดูแลแบบ Home Isolation(HI), Community Isolation(Cl), Hotel Isolation หรือ Hospitel 

ตามความสมัครใจของผู้ติดเชื้อ 

6. กรณีมีภาวะเสี่ยง อาการมากและอาการรุนแรง จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

ส่วนความแตกต่างของรูปแบบการรักษา แบบ Home Isolation และ Outpatient with Self Isolation คือ Home Isolation (HI) เป็นประเภทการรักษาแบบผู้ป่วยใน (In patient department : IPD) มีการแยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ โทรติดตามอาการทุกวัน มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน และมีบริการอาหาร ในขณะที่ Outpatient with Self Isolation ประเภทการรักษา OPD จะเหมือนระบบ HI เกือบทั้งหมด ยกเว้นจะไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน และไม่มีบริการอาหาร และจะมีการโทรศัพท์ติดตามอาการเพียง 1 ครั้งคือหลัง 48 ชั่วโมง 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อได้ตลอดเวลาหากมีอาการ หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม


ภาพจาก กทม.

 

 







ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง