โอมิครอน "BA.2.87.1 และ JN.1" ต่างกันอย่างไร สายพันธุ์ใดหลบภูมิเก่งกว่า?
TNN ช่อง16
4 มีนาคม 2567 ( 12:34 )
67
ศูนย์จีโนมฯ เปิดข้อมูลสำคัญ "โอมิครอน BA.2.87.1 " แตกต่างจาก "โอมิครอน JN.1" อย่างไร สายพันธุ์ไหนหลบภูมิได้เก่งกว่า?
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เกี่ยวกับโควิด-19 โดยระบุว่า โอมิครอน BA.2.87.1 ที่สุ่มเสี่ยงจะระบาดในอนาคต VS โอมิครอน JN.1 สายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในขณะนี้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) แถลงว่าจากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ทั่วโลกทำให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพบสายพันธุ์ย่อยของ SARS-CoV-2 ที่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนโปรตีนหนามมากกว่า 30 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับโอมิครอน XBB.1.5 โดยถูกเรียกขานว่าโอมิครอน “BA.2.87.1” อันเป็นสายพันธุ์ที่มีวิวัฒนาการก้าวกระโดดจากโอมิครอน BA.2 ก้าวข้ามแยกสายพันธุ์จากโอมิครอน XBB และ JN.1 ที่กำลังแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (The European Centre for Disease Prevention and Control: ECDC) กำลังเฝ้าติดตามโอมิครอน BA.2.87.1 อยู่เช่นกันโดยจัดอันดับให้เป็นสายพันธุ์ภายใต้การติดตาม (variant under monitoring: VUM)
โอมิครอน BA.2.87.1 ไม่สามารถแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีโอมิครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก แต่อาจมีการแพร่ระบาดได้ดีในภูมิภาคที่มีความชุกของโอมิครอน JN.1 ต่ำ ซึ่งในพื้นนั้นอาจช่วยส่งเสริมให้โอมิครอน BA.2.87.1 เพิ่มจำนวนจนเกิดการกลายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการแพร่ระบาดที่ดีขึ้น
แม้จะสุ่มพบจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียง 9 คนในแอฟริกาใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 ขณะนี้ไม่มีรายงานผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาหรือนอกแอฟริกาใต้ รวมทั้งประเทศไทย แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากบนโปรตีนส่วนหนามทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่สายพันธุ์ใหม่นี้จะมีการกลายพันธุ์ต่อไปและจะสามารถหลุดรอดจากภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติได้
โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้เฝ้าติดตามสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างระมัดระวังและใกล้ชิด
โดยศูนย์ควบคุมฯคาดหวังว่า “วัคซีนโอไมครอนสายพันธุ์เดียว XBB.1.5” หรือที่เรียกว่าวัคซีนโมโนวาเลนต์ที่อาศัยโอมิครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบหรือสารตั้งต้น (monovalent XBB.1.5-containing vaccines) และยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะยังคงมีประสิทธิภาพสู้กับโอมิครอน BA.2.87.1 ได้
ขณะที่งานวิจัยล่าสุดจากทีมวิจัยจีนได้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนโควิด 3 สายพันธุ์ (trivalent covid-19 vaccine: XBB.1.5+BA.5+เดลตา) ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้เป็นกรณีฉุกเฉินในจีนอาจใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถสู้กับไวรัสโคโรนา 2019 อย่างครอบคลุม (broad spectrum) ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) จนถึงโอมิครอนสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน JN.1 และ โอมิครอน BA.2.87.1 ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการระบาดขึ้นในอนาคต
โอมิครอน BA.2.87.1 แตกต่างจากโอมิครอน JN.1 อย่างไร
โอมิครอน BA.2.87.1 เข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่า JN.1 ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่โอมิครอน BA.2.87.1 ยังจะต้องมีการกลายพันธุ์เพื่อปรับตัวเพื่อให้มีความสามารถในการแพร่ระบาดในมนุษย์
โอมิครอน BA.2.87.1 จับกับผิวเซลล์ (ACE2) ทั้งในมนุษย์และสัตว์ได้ดีเพื่อเข้าสู่เซลล์ โดยมีประสิทธิภาพที่โดดเด่นในการจับและการหลอมรวมเซลล์ (cell fusion) อย่างไรก็ดีพบว่าโอมิครอน BA.2.87.1มีประสิทธิภาพน้อยกว่าในการเข้าสู่เซลล์ปอดมนุษย์ (Calu-3) เมื่อเปรียบเทียบกับโอมิครอน JN.1 บ่งชี้ว่าโอมิครอน BA.2.87.1 เพิ่งก้าวข้ามจากสัตว์มาสู่คนเมื่อเทียบกับโอมิครอน JN.1
ส่วนผิวเซลล์ที่เรียกว่า “TMPRSS2” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าสู่เซลล์ปอดของโอมิครอน BA.2.87.1 ซึ่งแตกต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่นที่ลดความจำเป็นที่ต้องจับกับ TMPRSS2 เพื่อเข้าสู่เซลล์ปอด
แอนติบอดีสำเร็จรูป (monoclonal antibody) สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 พบว่ามีถึงห้าชนิดที่สามารถจับและทำลาย BA.2.81.7 ในหลอดทดลองได้คือ Casirivimab, Tixagevimab, Amubarvimab, Regdanvimab, และ Sotrovimab ในขณะที่โอมิครอน JN.1 จะดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูปเกือบทั้งหมด
สรุปว่า BA.2.87.1 มีความสามารถในการหลบหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่ด้อยกว่าโอมิครอน JN.1 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโอมิครอน BA.2.87.1 ไม่สามารถแพร่กระจายอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีโอมิครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก แต่อาจสามารถแพร่ระบาดได้ดีในภูมิภาคที่มีความชุกของโอมิครอน JN.1 ต่ำ ซึ่งในพื้นนั้นอาจช่วยส่งเสริมให้โอมิครอน BA.2.87.1 เพิ่มจำนวนและเกิดการกลายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเสริมการแพร่ระบาดให้ดีขึ้น
ที่มา Center for Medical Genomics
ภาพจาก AFP