รีเซต

ฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้ไอซ์แลนด์ภายในปี 2030

ฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้ไอซ์แลนด์ภายในปี 2030
TNN ช่อง16
27 ตุลาคม 2567 ( 12:27 )
9
ฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้ไอซ์แลนด์ภายในปี 2030

วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ตอัป สเปซ โซลาร์ (Space Solar) ในอังกฤษวางแผนจัดหาพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศให้ชาวไอซ์แลนด์ภายในปี 2030 ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่ครั้งแรกของโลก โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท สเปซ โซลาร์ (Space Solar) บริษัท เรคยาวิก เอนเนอร์จี (Reykjavik Energy) และโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนของไอซ์แลนด์ (Transition Labs)


บริษัท สเปซ โซลาร์ (Space Solar) วางแผนปล่อยดาวเทียมต้นแบบฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศดวงแรกภายในปี 2030 และหากสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ส่งกลับมายังโลกเพียงพอสำหรับบ้านเรือน 3,000 หลัง ใช้งานใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศต้องใช้ดาวเทียมน้ำหนักกว่า 70.5 ตัน ความกว้าง 400 เมตร รวมแผงโซลาร์เซลล์ โคจรรอบโลกระดับความสูง 2,000-36,000 กิโลเมตร ซึ่งในอนาคตอาจสามารถส่งขึ้นสู่อวกาศได้ในภารกิจเดียวโดยยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ที่สามารถขนส่งดาวเทียมน้ำหนักกว่า 100 ตัน ขึ้นสู่อวกาศ


นอกจากนี้บริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวเอาไว้ในระหว่างปี 2030-2040 จะมีฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศจำนวน 6 แห่ง โคจรรอบโลก โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปี 2040 อาจสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 15 กิกะวัตต์


โครงการทั้งหมดเริ่มต้นพัฒนาบนโลกโดยบริษัท สเปซ โซลาร์ (Space Solar) มีแผนการสร้างโรงงานผลิตดาวเทียมและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 26,900 ล้านบาท โดยชูจุดเด่นฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศใช้ต้นทุนเพียงแค่ 1 ใน 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมไปถึงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าแผงโซลาร์เซลล์และกังหันลมบนโลกซึ่งมีข้อจำกัดในด้านของเวลาและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง


"พลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศมีประโยชน์ที่ไม่มีใครเทียบได้ โดยมีต้นทุนพลังงานที่สามารถแข่งขันได้และพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน การที่บริษัท เรคยาวิก เอนเนอร์จี (Reykjavik Energy) ตระหนักถึงศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น และเราตื่นเต้นที่จะได้ทำงานร่วมกันเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" มาร์ติน โซลเทา (Martin Soltau) ซีอีโอร่วมของบริษัท สเปซ โซลาร์ (Space Solar) กล่าวในแถลงการณ์


สำหรับแนวคิดฟาร์มโซลาร์เซลล์บนอวกาศ (Space-based Solar Power หรือ SBSP) คือ การสร้างสถานีผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศ ซึ่งสามารถรวบรวมพลังงานจากดวงอาทิตย์โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น เมฆ ฝุ่น หรือกลางคืน การส่งพลังงานกลับมายังโลกทำได้ผ่านระบบส่งพลังงานแบบไร้สาย เช่น การส่งผ่านไมโครเวฟหรือเลเซอร์ แนวคิดนี้มีศักยภาพสูงเพราะอวกาศเปิดโอกาสให้แผงโซลาร์เซลล์ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์บนพื้นโลก


ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ Spacesolar.co.uk

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง