พิษ 'โนอึล' ฝนกระหน่ำคลื่นซัด เกาะหินปูนอายุ 260 ล้านปีถล่มลงทะเล
เมื่อวันที่ 21 กันยายน กรณีการพังทลายของเขาหินปูนและดินถล่มบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหินแตก ที่พิกัด 47P 572232 1068005 เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา มีการถล่มลงในทะเลเป็นบริเวณกว้างประมาณ 15-20 % ของพื้นที่เกาะ จากการตรวจสอบสันนิษฐานว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินและชั้นดินที่ถูกกัดเซาะจากสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงจากสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นโนอึล ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานั้น นายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 กันยายนว่า ข้อมูลลักษณะธรณีสัณฐาน (Geomorphology)ของเกาะหินแตก รวมถึงลักษณะภูมิประเทศทั้งหมดของหมู่เกาะอ่างทอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศแบบคาสต์(Karst topography) ประกอบไปด้วยกลุ่มภูเขาหินปูนที่เกิดรวมกันเป็นหมู่เกาะอยู่กลางทะเลอ่าวไทย ชั้นหินจัดอยู่ในกลุ่มหินปูนยุคเพอร์เมียนตอนกลาง (Middle Permian) มีอายุประมาณ 260 ล้านปี เป็นเขาหินปูนที่มียอดเขาตะปุ่มตะป่ำ เพราะน้ำฝนและน้ำสามารถชะละลายเนื้อหินปูนออกไปได้ง่าย
“พื้นที่โดยทั่วไปจึงมีแนวโน้มจะประกอบไปด้วยหลุม บ่อ ถ้ำ และทางน้ำใต้ดินเป็นช่องทางนำพาเอาเนื้อหินปูนแทรกซึมหายไปเมื่อมีฝนตกในปริมาณที่มาก และไหลเข้าไปในรอยแยกรอยแตกเหล่านั้น ทำให้มวลหินสูญเสียเสถียรภาพ ประกอบกับน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงของโลก จึงทำให้หินปูนเกิดการแตกเคลื่อนตัวและถล่มลงมา ” นายปิยะ กล่าว
นายปิยะ กล่าวว่า การดำเนินการของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ในเบื้องต้นได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสังเกตการณ์ เนื่องจากอาจมีการถล่มเพิ่มเติมได้ และจะดำเนินการสำรวจสภาพความเสียหายและขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อรายงานให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไม่ให้เดินเรือเข้าใกล้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว