รีเซต

'ทบทวนใหม่ดีไหม' อุตสาหกรรมจะนะ เสียงค้านจากใจคนในพื้นที่

'ทบทวนใหม่ดีไหม'  อุตสาหกรรมจะนะ  เสียงค้านจากใจคนในพื้นที่
มติชน
27 กันยายน 2563 ( 14:49 )
41
'ทบทวนใหม่ดีไหม'  อุตสาหกรรมจะนะ  เสียงค้านจากใจคนในพื้นที่

หลังจากกระแสการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ร่วมกรณีโครงการอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วย ยังคงตั้งหน้าตั้งตารอดูว่า ศอ.บต.จะจัดเวทีเพื่อรับฟังเสียงของพวกเขาบ้าง จนมาถึงบัดนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในส่วนการดำเนินงาน ยังไม่มีการเปิดเผยใดๆ ทำให้เริ่มมีเสียงที่สะท้อนออกมาถึงการกระทำของรัฐที่ยังเคลือบแคลงให้สงสัยว่ามีการปกปิดและไม่โปร่งใสตามมา

 

ผศ.ดร.บัณฑิต ไกรวิจิตร อจ.คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ผมในฐานะนักวิชาการด้านมานุษยวิทยา เห็นว่าขณะนี้มีการประชาสัมพันธ์ฝ่ายเดียว โกหกหลอกลวงประชาชน ซึ่งจะยิ่งเป็นการกระตุ้นประชาชนให้รู้สึกไม่ดีต่อรัฐมากขึ้น ทำไมไม่มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วยบอกประชาชนตรงๆ จะมีโรงงานอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นที่นี่ จะมีคนได้งานกี่คน โรงงานต้องสัมพันธ์กับลักษณะคนในพื้นที่ด้วย ต้องหยุดการประชาสัมพันธ์แบบเกณฑ์คนที่เห็นด้วยให้เค้ายกมือ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยคุณก็กันเขาออกไปไม่ให้เข้าร่วม มันเรียกว่าไม่ยุติธรรม

 

“อุตสาหกรรมจะนะที่ต้องทำตอนนี้คือ ต้องรายงานเรื่องเกี่ยวกับผลของการดำเนินงานและที่ต้องดูแลประชาชน ต้องกลับไปทบทวนและศึกษาใหม่เกี่ยวกับ การพัฒนาโครงการใหญ่ตั้งแต่ต้น เนื่องจากเหตุการณ์นี้มันผิดขั้นตอนสำรวจ ความต้องการ สำรวจผลกระทบที่จะเกิดประชาชนการใช้พื้นที่แบบไหนอย่างไร มีโรงงานที่เกิดขึ้นชนิดไหนบ้าง อุตสาหกรรมไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมหนักประเภทอื่นๆ ทั้งหมดต้องทำแผนให้ชัดเจนทั้งหมด ครอบคลุมรอบด้าน ไม่ใช่ทำไปสร้างไปแล้วเอาโรงงานเข้ามาทีหลัง อนุมัติโครงการไปได้แล้วให้โรงงานเข้าไปเสียบอย่างโรงงานที่จะสร้างนี้ ได้ข่าวว่าจะเป็นโรงงานที่ใหญ่เกินความจำเป็นของคนจะนะ และมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักที่จะเกิดขึ้นตามมาอีก

 

ทั้งๆ ที่เรามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้วที่อ.สะเดา แต่ก็ไม่ได้ใช้งานท่าไหร่ ไม่คุ้มค่า โรงงานอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ปัตตานีก็ล้มเหลว ทำไมถึงไม่ไปใช้ให้เต็มที่ ให้ใช้โรงงานมีอยู่แล้วก่อน รวมทั้งขณะนี้ประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจขาลง การลงทุนติดลบ 12 เรามีคนตกงานมหาศาล หลังโควิด ขณะนี้เราตกอยู่ในสถาณการณ์ขายของไม่ตรงจุด มีปัญหาการแก้ปัญหาคนตกงานก็สะท้อนการพัฒนาไม่ตรงด้าน
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ต้องกลับไปทวนใหม่ ต้องมีบริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษาโครงการแล้วนำออกมากางให้ประชาชนเห็นด้วย ว่าจะเกิดอะไรบ้าง มีโรงงานกี่โรงงาน ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ไม่ใช่ทำแบบซ่อนๆ เหมือนในปัจจุบันและไม่เปิดตัว โครงการนี้รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว และโดยการหนุนของ ศอ.บต. ซึ่งเรายังไม่ทราบเลยว่ามีโรงงานอะไรบ้าง แบบนี้จะดีหรือ

 

ผมคนหนึ่งที่ขอยืนหยัดคัดค้าน จะต่อสู้ว่าโครงการนี้กระทบสิ่งแวดล้อม เกิดผลกระทบกับประชาชนและสร้างความรู้สึกขัดแย้ง ศอ.บต.เองเป็นผู้มีเครื่องมือแก้ไขปัญหาสันติภาพ กลับผลักดันโครงการนี้เสียเอง มีการปกปิดข้อมูล ผมเห็นว่าไม่ควรมีการต่อรองใดๆ ควรกลับไปทบทวนอีกครั้งโดยด่วนที่สุด
ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ การประมง สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดต้องกลับไปศึกษาใหม่ทั้งหมด พื้นที่ธรรมชาติทะเลชายริมฝั่งทะเลภาคใต้ ตามชุมชนวิถีชาวเลริมชายฝั่งเหลือน้อยแล้ว ควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นวิถีเดิมๆ ที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมเหมือนกับที่.ระยอง เพราะที่ผ่านมาก็มีการคัดค้านมากมายและเกิดผลกระทบมาจนทุกวันนี้ และถ้ามองจากภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่อ่าวไทยที่มาจากจ.ระยอง มาถึงจ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมองเห็นอัตราฝุ่นละอองโลหะหนัก ลอยกระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งถ้าเอาพื้นที่ที่ดีที่สุดทางนี้ไปลงทุนอีก มันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลย”

 

 

อจ.มัังโสด หมะเต๊ะ ผู้รับใบอนุญาต รร.สันติวิทย์ อ.จะนะ กล่าวว่า เริ่มจากจะนะคือในอดีตนี้เป็นแหล่งสถาบัน มีปอเนาะมากมายในพื้นที่ทำการสอนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 30 กว่าโรงเรียน มีอุลามะอ(นักวิชาการศาสนา ผู้รู้) อาจารย์ ครู มาเปิดรร.เอกชนสอนศาสนา เมื่อครม.เปิดไฟเขียวให้อ.จะนะเป็นเขตอุตสาหกรรม จากข่าวออกมานั้น เรายังไม่รู้เลยว่าจะมีโรงงานอะไรบ้าง จะมีการจ้างงาน 1-2 แสนคน เมื่อมีคนจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ ในส่วนของสถาบันการศึกษา ย่อมกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาว่า เรื่องที่1 คือจะมีแหล่งอบายมุขเข้ามาแน่นอน ผมในฐานะคนจะนะมีเจตนารมณ์ สร้างเมืองแห่งอุลามะอนั้น หลังจากตายไปแล้วจะต้องกลับไปตอบกับพระเจ้าของเขา แล้วรัฐจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เมื่อมันเข้ามาในพื้นที่ เขาจะมาทำลายสังคมของเด็กๆ แล้วอุลามะอ เหล่านี้จะป้องกันลูกหลานของเขาอย่างไร? จะตอบอย่างไรกับพระเจ้าเพราะมีอบายมุขเข้ามาเยาวชนของเราก็กลัวจะไปติดกับดักอบายมุขเหล่านั้นได้

 

เรื่องที่ 2 เมื่อมีโรงงานปิโตรเคมีหรือโรงงานที่เกี่ยวกับภาวะมลพิษ จะต้องมีผลเสียจากภาวะมลพิษ ผมเคยไปตรวจงานของ สมศ. ให้ดูตัวอย่างที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี อมตะนคร เราเคยไปดูรร.ละแวกนั้น ปรากฏว่าบริเวณนั้นมีเด็กที่เกิดปัญญาอ่อน ไม่สมบูรณ์จำนวนมาก กว่าที่อื่นเหตุเพราะเด็กเกิดจากเมื่อตอนที่ตั้งครรภ์ แม่ได้สูดกลิ่นสารพิษเข้าไปจึงเกิดผลกับลูกตามมา อีกเรื่องคือผมตั้งใจช่วยรัฐบาล เพื่อต้องการแก้ปัญหาความมั่นคง3จชต. ต้องการเปลี่ยนเด็กให้มาเรียนที่นี่มาอยู่ในสังคมจะนะ หนีจากสภาพแวดล้อมของเขาความกดดันผลกระทบ ผมเอามาให้เรียนระดับปวช.สายอาชีพเพื่อให้ได้มีงานทำ ขณะนี้เรารับผิดชอบดูแลเด็กกำพร้าและยากจนด้วย กว่า 230 คนให้เรียนฟรี เพื่ออยากเห็นเด็ก 3 จชต. มีงานทำกินดีอยู่ดี สร้างสังคมดี มีความสุข ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม

 

สิ่งที่คาดหวังคือ ทำไมรัฐบาลต้องมาทำลายสิ่งเหล่านี้ ทำไมไม่พัฒนาพื้นที่จะนะให้เป็นเมืองแห่งการศึกษาทำไมต้องมาลงที่นี่ ไปสร้างที่อื่นได้ไหม ถ้ารัฐมนตรีเห็นว่ามันดีจะสร้างให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ไปสร้างบ้านท่านได้ไหมไม่ต้องสร้างบ้านผม ผมอยากให้บ้านเมืองผมเป็นแหล่งทางการศึกษา

 

ขณะนี้ บรรดาผู้บริหารรร.เอกชนทั้ง28โรงนี้ บางครั้งถ้าถอยจนสุดมันอาจทำไม่ได้ ทางนายทุนก็มีการเตรียมตัวดำเนินงานซื้อที่ทางกันแล้ว เราก็มาดูกันมาคุยกัน โรงงานอาจเกิดขึ้นได้ แต่เราต้องมาเริ่มกันใหม่ ทำสำรวจ ทำประชามติ ไม่ต้องประชาพิจารณ์ เอาคนจะนะทั้งหมดอย่าเอาแค่ 3 ตำบล การกำหนดแค่ 3 ตำบล เหมือนขีดเส้นกันเอาเฉพาะคนที่เห็นด้วย ซึ่งต้องฟังเสียงคนจะนะทั้งหมด เพราะมันเกี่ยวข้องกันทั้งจังหวัดเลย เรามาทำประชามติ โดยเลือกกรรมการที่มีทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม ชาวเล บรรดาครู อาจารย์ เอ็นจีโอ ทุกคนทุกภาคส่วนมาระดมถกความคิดเห็นกันเสร็จแล้วมาวิเคราะห์กัน ถ้าเห็นด้วยเราก็โอเค ที่นี้ต้องมากำหนดกันว่ามีจะวางกรอบแค่ไหน โรงงานที่เกิดจะเกิดแบบไหน จะเกิดผลกระทบพี่น้องชาวเลได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่กังวลคือจะกระทบกับรร.จะเกิดได้แค่ไหน อย่างไร อุตสาหกรรมฮาลาล ทุกคนจะเห็นด้วย แต่ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเคมี และในบางข้อเขียนว่าอุตสาหกรรมเคมีและต่อเนื่อง อันนี้คืออะไรไม่ชัดเจน ในส่วนของการจัดการอบายมุข จะจัดการอย่างไร จัดโซนอย่างไร จะกำหนดได้ ขนาดไหน อย่าให้มีอาบอบนวดในพื้นที่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีในอนาคต

 

ถ้าประชามติทั้งหมด บอกว่าทำได้ เราก็ยอมรับแต่ให้ทำแบบเปิดเผยอย่าทำแบบลับลมคมใน อย่างเช่นศอ.บต.บอกจัดเวที 38 เวทีแล้วจัดตรงไหน ผมอยู่ตรงนี้ยังไม่เห็นมีเลย จะมีอยู่รอบเวทีใหญ่คราวที่แล้วรอบเดียว มีการขนคนมา ผมคนนึงที่เป็นฝ่ายค้านจะเข้าไม่ได้ มีการกันพื้นที่ ระดมจนมาเป็นพันๆคน ปิดทางสัญจร แล้วบอกว่าเป็นเวทีความคิดเห็น อันนี้เราไม่ยอมรับ วันนั้นทางกลุ่มนั้นออกมา วันต่อมาเราและบรรดาเด็กๆทุกโรง พร้อมออกไปคัดค้าน วันก่อนเราไปยื่นหนังสือถึงนายอำเภอส่งต่อถึงรัฐบาลแล้ว รอฟังผลให้พิจารณากันใหม่ ถ้ายังไม่เป็นผลเราพร้อมที่จะเดินถนนเพื่อแสดงพลังเสียงที่ไม่ต้องการโครงการนี้? ขอให้ศอ.บต. ฉุกคิดและฟังเราอีกครั้ง เพื่อจะเป็นการหาทางออกที่ดีต่อไป

 

นายใหม่ หมัดเสะ ผญ.บ้านม.1 ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า โครงการนี้มันใหญ่มากๆ ต้องเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน ในต.ท่ากำชำ นี้มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ทำประมง กระทบแน่นอน คือในบางระพา ท่ายามู ท่ากำชำตันหยงเปาว์ ส่งผลกับการทำมาหากินของชาวบ้านแน่นอน ถ้ามองถึงการจ้างงานแน่นอนทุกคนอยากได้ ผมก็อยากได้ ถ้าเป็นไปได้อยากได้โรงงานขนาดที่ไม่ใหญ่มาก สามารถจ้างคนในพื้นที่ทำงานได้จริง และไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ในส่วนของบ้านท่ากำชำนี้ ในการอนุรักษ์ป่าโกงกางนั้นเราเอง ทำมาหลายปีกว่าจะฟื้นฟูได้ มีการเปิดพื้นที่อีก 87 ไร่ เป็นแหล่งอนุบาลปลา ไม่ให้คนไปจับปลา


ถ้ารัฐจะช่วยเหลือส่งเสริมผมเห็นว่าสมควรสนอง หนุนเสริมในสิ่งที่เค้ามีอยู่แล้วมากกว่า เช่นเครื่องมือหาปลาหรือช่วยเหลืออุปกรณ์ด้านอื่นๆ ดีกว่า ไปส่งเสริมโดยตรง ไม่ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นๆ แล้วอ้างว่าช่วยเหลือพวกเค้า เหมือนมาทุบหม้อแกงของเขา อันนี้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่

 

“ส่งเสริมเค้าในด้านอาชีพที่เค้ามีดีกว่า จะทำให้ชีวิตชาวบ้านเค้ากินดีอยู่ดีได้ เพราะที่ผ่านมาถ้าสร้างโรงงานจริงๆ คนในพื้นที่ถูกจ้างงานน้อยมากได้ทำก็ระดับล่างๆ จะมากินค่าจ้าง 200 – 300 บาท กับที่เขาทำมาหากินเองไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร รายได้ก็ไม่ต่ำไปกว่ากันอาจดีกว่าด้วย เราก็อยากให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ ทรัพยากรที่มีอยู่ในทะเลดี ที่ผ่านมาเราดำเนินชีวิตเพื่อสิ่งนี้

 

ถ้าโรงงานจะสร้างจริงๆ ให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ต้องสร้างใหญ่โตมาก ทำโรงงานเล็กๆ ที่ไม่กระทบกับพื้นที่มาก ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ตรงกับงานของคนในพื้นที่จริง เพราะที่ผ่านมาเราผ่านอะไรต่ออะไรมามากแล้วถ้าสร้างขึ้นมา พอเกิดปัญหา เราฟ้องใครไม่ได้เลย”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง