หมอเฉลิมชัย เผยข้อมูล "โอไมครอน" จุดหักเหสำคัญสำหรับชาวโลก
วันนี้( 16 ธ.ค.64) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน"
โดยระบุว่า "ดีก็ได้ ร้ายก็ได้ ไวรัสโอไมครอนกลายพันธุ์แบบพิเศษดึงสารพันธุกรรมของไวรัสอื่นเข้ามาอยู่ในตัวเองได้ จากฐานข้อมูลกลางของโลก (GSAID) ซึ่งได้รวบรวมสายพันธุ์หรือชนิดต่างๆของไวรัส โดยประเทศสมาชิกเมื่อตรวจพบสายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิดที่เปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไป ก็จะส่งข้อมูลมารวมกัน ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 6,000,000 ตัวอย่างแล้วนั้น ทำให้โลกเรา ได้รับทราบการกลายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคโควิดต่างๆมาโดยตลอดว่า มีการกลายพันธุ์สม่ำเสมอตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อเพิ่มรายวันสูง หรือมีการระบาดรุนแรง นับถึงปัจจุบัน มีการกลายพันธุ์ไปแล้วมากกว่า 1000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย
เนื่องจากไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิดนั้น เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว จึงมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือการกลายพันธุ์ง่าย ที่ผ่านมาการกลายพันธุ์จะส่งผลกระทบได้สามประการด้วยกันคือ
1) ความสามารถในการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อ
2) ความสามารถในการก่อความรุนแรงของโรค หรือการเสียชีวิต
3) การดื้อต่อวัคซีน ซึ่งรวมถึงประสิทธิผลที่ลดลงต่อการตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคด้วย
โดยไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดเก่งที่สุด จนสามารถครองโลกได้เลย ขณะนี้ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่เป็นไวรัสเดลต้า 99%
ส่วนไวรัสสายพันธุ์เบต้า มีความรุนแรงของโรคมาก แต่มีความสามารถในการแพร่ระบาดต่ำ จึงไม่มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อมากนัก
ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าแพร่ระบาดเร็วในระยะแรก แต่ช้ากว่าเดลต้า จึงถูกเดลต้าแซงไปในที่สุด
เมื่อปรากฏไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนขึ้น ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาดรวดเร็วกว้างขวาง และแนวโน้มดื้อต่อวัคซีน ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนทุกชนิดลดต่ำลง แต่ความรุนแรงในการก่อโรคยังไม่ชัดเจน
ขณะนี้มีข้อมูลล่าสุดที่น่าสนใจได้แก่ ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีคุณลักษณะพิเศษคือ สามารถดึงบางส่วนของไวรัสชนิดอื่นเข้ามาอยู่ในตัวเองได้ ทั้งไวรัสก่อโรคโควิดสายพันธุ์อื่น และรวมไปถึงไวรัสอื่นที่ไม่ใช่ตระกูลโคโรนา เช่น ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัด
ซึ่งลักษณะเด่นดังกล่าวของไวรัสโอไมครอนได้ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่า ไวรัสล่องหน คือทำให้ตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์แล้วไม่สงสัยว่าเป็นไวรัสโอไมครอน ต่อมาพบว่าสารพันธุกรรมของไวรัสโอไมครอนมีบางส่วนของไวรัสอื่นเข้ามาปนด้วย เรื่องดังกล่าวนี้ อาจจะส่งผลได้ทั้งในแง่ดี และแง่ร้าย
ในแง่ดี ไวรัสโอไมครอนก็จะแพร่ระบาดรวดเร็วจนครองโลก แต่ไม่สร้างความรุนแรง เกิดอาการเจ็บป่วยในระดับไข้หวัด ทุกอย่างก็จะยุติ แต่ถ้าโชคไม่ดี ลักษณะเด่นของไวรัสเกิดไปดึงไวรัสตัวอื่นที่รุนแรงหรือดุร้ายกว่าเข้ามา ก็จะก่อความรุนแรงมากขึ้นได้คือ มีการแพร่ระบาดรวดเร็วจนครองโลก และยังประกอบด้วยความสามารถในการก่อโรคที่รุนแรง ถ้ารุนแรงมากกว่าเดลต้าหรือเบต้า รวมทั้งดื้อต่อวัคซีนด้วย
ก็เท่ากับมนุษย์เรา เกือบจะถือได้ว่าย้อนกลับไปเมื่อธันวาคม 2562 เพียงแต่อาจจะไม่ร้ายแรงเท่าปี 2562 เพราะคนกว่าครึ่งโลกได้รับการฉีดวัคซีนมีภูมิป้องกันที่พอจะสู้ได้เป็นบางส่วน และมีองค์ความรู้ในการ พัฒนาวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลจะออกมาดีหรือร้ายประการใด"
ภาพจาก รอยเตอร์/Chalermchai Boonyaleepun