สธ.โต้ข่าวสื่อนอก อ้างตลาดค้าสัตว์ "จตุจักร" ต้นตอแพร่ระบาดเชื้อโควิด
จากกรณีที่ สำนักข่าว Politiken ของเดนมาร์ก ได้นำเสนอข่าวว่า เธีย เคิลเซน ฟีสเชอร์ แพทย์จากองค์การอนามัยโลกชาวเดนมาร์ก ตั้งข้อสงสัยว่า ตลาดนัดจตุจักร อาจเป็นแหล่งต้นตอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นำไวรัสโควิด-19 มาสู่ เมืองอู่ฮั่น และทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก
ล่าสุด วันนี้ (24 ก.พ.64) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย และชี้แจงประเด็นสวนจตุจักรเป็นต้นเหตุของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในจีน ที่ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล อาคาร 1 ชั้น 1 กรมควบคุมโรค โดย นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า กรณีสื่อต่างชาติรายงานข่าว "จตุจักร" อาจเป็นต้นกําเนิดของเชื้อโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่น ประเทศจีน นั้น "ไม่เป็นความจริง" นักวิจัยเก็บตัวอย่างตรวจสอบค้างคาวมงกุฏในไทย เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างกรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาว ที่เมืองไทยมานานเกือบ 20 ปี เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำเป็นประจําอย่างต่อเนื่อง
ผลการวิจัยที่ได้พบว่าค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวมงกุฏมีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด 19 ถึงร้อยละ 91.5 แต่ไม่ติดต่อระหว่างค้างคาวสู่คน ทั้งนี้การไม่กินไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวนับเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดําเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาเชื้อโรคที่แอบ แฝง รวมถึงหารือแผนปฏิบัติการป้องกันกําจัดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ใน ตลาดค้าสัตว์ป่า โดยกําหนดให้มีการทําความสะอาดพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่า และ ตลาดค้าสัตว์เลี้ยง 5 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ตลาดจตุจักร ตลาด มีนบุรี ตลาดพุทธมณฑลเป็นประจํา